วันเสาร์ที่ 19 สิงหาคม พ.ศ. 2560


บาทหลวงจรัล ทองปิยะภูมิ
จิตตาธิการสภาการศึกษาคาทอลิก ประเทศไทย



ในการเตรียมการประชุมสมัชชาเรื่องการฟื้นฟูความกระตือรือร้นทางการศึกษาคาทอลิกขึ้นใหม่สมณกระทรวงการศึกษาคาทอลิกได้ออกแบบสอบถามไปยังสถาบันการศึกษาคาทอลิกทั่วโลกเกี่ยวกับความท้าทาย 11 ข้อต่อการศึกษาคาทอลิก ความท้าทายข้อหนึ่งคือ ความท้าทายของการศึกษาแบบบูรณาการ ต่อมาสมณกระทรวงการศึกษาคาทอลิกได้ตีพิมพ์เอกสารชื่อว่าการฟื้นฟูความกระตือรือร้นทางการศึกษาคาทอลิกขึ้นใหม่: ความท้าทาย กลวิธี และมุมมองที่เกิดจากคำตอบแบบสอบถามของเอกสารเครื่องมือทำงานสรุปเป็นความท้าทายเพียง 4 ข้อ เป็นที่น่าสังเกตว่าข้อความท้าทายของการศึกษาแบบบูรณาการได้เปลี่ยนชื่อ เรียกว่า ความท้าทายของการศึกษาแบบองค์รวม เอกสารนี้ยังได้สรุปแนวความคิดหลักที่ปรากฎชัดที่สุดจากคำตอบแบบสอบถามดังนี้ สาระสำคัญของการศึกษาคาทอลิกคือการบริรูปหล่อหลอมทางการศึกษาที่มีลักษณะเป็นองค์รวม มีลักษณะที่โอบรับ อีกทั้งมุ่งเน้นการบริการและการทุ่มเทเพื่อชุมชนดังนั้น จะเห็นได้ว่าขอบฟ้าใหม่ของการศึกษาคาทอลิกคือ การให้ความสำคัญต่อการจัดการศึกษาในมุมมองใหม่ของนักการศึกษาคาทอลิกร่วมสมัย ที่ต้องการเห็นการศึกษาคาทอลิกมีลักษณะที่เป็นการศึกษาแบบองค์รวมอย่างแท้จริง


. การศึกษาแบบองค์รวม


การศึกษาแบบองค์รวมคือปรัชญาการศึกษาที่ตั้งบนหลักการว่า แต่ละบุคคลพบอัตลักษณ์ ความหมาย และจุดประสงค์ของชีวิต ในความยึดโยงกับประชาคม โลกธรรมชาติ และคุณค่าแห่งมนุษยธรรม การศึกษาแบบองค์รวมมุ่งการพัฒนาศักยภาพต่างๆ ของตัวบุคคล ทั้งด้านสติปัญญา อารมณ์ สังคม ความสร้างสรรค์ สุนทรียภาพ กาย และจิตวิญญาน โดยเน้นให้นักเรียนมีส่วนร่วมในกระบวนการจัดการเรียนการสอน และมีความรับผิดชอบทั้งด้านส่วนบุคคลและส่วนรวม

หลักสูตรของการศึกษาแบบองค์รวม

องค์ประกอบหลักของหลักสูตรของการศึกษาแบบองค์รวมได้แก่

  1. นักเรียนต้องเรียนรู้เกี่ยวกับตนเอง โดยครอบคลุมถึงความเคารพตนเอง
  2. นักเรียนต้องเรียนรู้เกี่ยวความสัมพันธ์ โดยโฟกัสที่การรู้ทางสังคม และการรู้ทางอารมณ์
  3. นักเรียนต้องเรียนรู้เกี่ยวกับการปรับตัว โดยครอบคลุมถึงการเอาชนะอุปสรรค การเผชิญความท้าทาย และการเรียนรู้วิธีบรรลุความสำเร็จระยะยาว
  4. นักเรียนต้องเรียนรู้เกี่ยวกับสุนทรียภาพ โดยการเห็นความสวยงามของสิ่งที่อยู่รอบตัวด้วยความมหัศจรรย์ใจ

ยุทธวิธีการสอนของการศึกษาแบบองค์รวม

ด้วยการตั้งเป้าหมายอยู่ที่การศึกษาของปริบุคคล การศึกษาแบบองค์รวมใช้ยุทธวิธีการสอนที่ตอบ
โจทย์ว่าบุคคลเรียนรู้อย่างไรและผู้สอนต้องสอนอย่างไร
  1. การศึกษาแบบองค์รวมเน้นการเรียนรู้แบบแปรสภาพ (transformative learning) แทนที่จะมองการศึกษาเป็นกระบวนการถ่ายโอนความรู้ การเรียนรู้แบบแปรสภาพมุ่งการเปลี่ยนกระบวนทัศน์ของบุคคล การเปลี่ยนแปลงนี้ครอบคลุมถึงมุมมอง อุปนิสัยของสติปัญญา และโลกทัศน์ การศึกษาแบบองค์รวมมองความรู้เป็นสิ่งที่สร้างขึ้นในบริบทที่บุคคลมีชีวิตอยู่ ดังนั้นสิ่งที่สำคัญคือการสอนให้นักเรียนรู้จักไตร่ตรองเชิงวิพากษ์ถึงวิธีที่เราเรียนรู้และเข้าใจข้อมูล สอนให้นักเรียนเอาใจใส่ต่อโลกที่ตนอาศัยอยู่ แล้วทำการตัดสินใจในการแปรสภาพตัวเองและสังคม
  2. การศึกษาแบบองค์รวมเน้นการเรียนรู้แบบบูรณาการ และการสอบสวนแบบสหวิทยาการ การเรียนรู้แบบสหวิทยาการเน้นกระบวนการสืบถาม สอบสวน มากกว่าการโฟกัสที่องค์ความรู้ของหมวดวิชา
  3. การศึกษาแบบองค์รวมเน้นความสำคัญของการมีความหมาย เพราะเป็นองค์ประกอบสำคัญของการเรียนรู้ ผู้เรียนจะเรียนรู้ได้ดีขึ้นเมื่อเข้าใจว่าสิ่งที่กำลังจะเรียนมีความสำคัญต่อตน ดังนั้น เมื่อการเรียนหัวข้อใดหัวข้อหนึ่งควรเริ่มจากสิ่งที่นักเรียนรู้ หรือเข้าใจ เกี่ยวกับหัวข้อนั้นๆ และหัวข้อนั้นๆ มีความสำคัญต่อตนอย่างไร มากกว่าการที่ผู้อื่นรู้สึกว่าหัวข้อนั้นๆ ควรมีความสำคัญต่อนักเรียนอย่างไร
  4. ชุมชนเป็นองค์ประกอบที่ขาดเสียมิได้ในการศึกษาแบบองค์รวม เนื่องด้วยความสัมพันธ์และการเรียนรู้เกี่ยวกับความสัมพันธ์เป็นสิ่งสำคัญในการเรียนรู้ตนเอง การศึกษาแบบองค์รวมมองห้องเรียนเป็นชุมชนภายในชุมชนโรงเรียน ซึ่งก็อยู่ในชุมชนท้องถิ่น เมือง ประเทศ และประชาคมโลก

บทบาทครูในการศึกษาแบบองค์รวม 

ในการศึกษาแบบองค์รวม ครูมีบทบาทลดลงในการควบคุมองค์ความรู้ แต่เป็นผู้อำนวยกระบวนการเรียนรู้ ห้องเรียนเป็นที่ที่ผู้ใหญ่และผู้เรียนทำงานร่วมกันเพื่อบรรลุเป้าหมายร่วม มีการสื่อสารแบบเปิดกว้างและจริงใจต่อกันระหว่างครูกับนักเรียนและระหว่างนักเรียนด้วยกัน การเรียนรู้เกิดขึ้นในบรรยากาศความร่วมมือมากกว่าการแข่งขัน 


. ความท้าทายต่อโรงเรียนคาทอลิกในโลกปัจจุบัน

เอกสารการฟื้นฟูความกระตือรือร้นทางการศึกษาคาทอลิกขึ้นใหม่: ความท้าทาย กลวิธี และมุมมองฯได้สรุปความท้าทายต่อการศึกษาคาทอลิกเป็น 4 ข้อ ในที่นี้จะกล่าวโดยสังเขปเพียง 2 ข้อ ได้แก่ ความท้าทายด้านอัตลักษณ์คาทอลิก และความท้าทายของการศึกษาแบบองค์รวม

1. ความท้าทายด้านอัตลักษณ์คาทอลิก 

ความท้าทายของโลกียะนิยม

โลกียะนิยมเป็นแหล่งเพาะพันธ์ของความยากจนฝ่ายจิตวิญญาณที่กำลังแพร่ขยายอย่างรวดเร็ว ขณะที่ส่วนใหญ่ของโลกกำลังเผชิญกับภัยคุกคามของมูลฐานนิยม (fundamentalism) ที่กำลังขยายตัวครั้งสำคัญ สัมพัทธ์นิยม (relativism) ก็กำลังงอกเงยขึ้น สังคมกำลังผุกร่อนด้วยการสูญเสียมิติของความศักดิ์สิทธิ์ในวัฒนธรรมร่วมสมัยและในความคิดทั่วไปของผู้คน คุณค่าต่างๆ ยิ่งทียิ่งเลือนลาง ชีวิตประจำวันถูกครอบงำด้วยความรู้สึกว่าตนเท่านั้นสำคัญ โดยทำให้คุณค่าต่างๆ ไร้ความหมาย คุณค่าเหล่านี้ถูกจำกัดอยู่ในขอบเขตของเรื่องส่วนตัวเท่านั้น หรือถูกมองเป็นเพียงสิ่งคงค้างของวัยเด็ก หรือบางครั้งก็ถูกเพิกเฉยไม่นำพาโดยจงใจ มีการนำเสนอความหมายและค่านิยมใหม่ ค่านิยมเหล่านี้ได้แก่บริโภคนิยม ชื่อเสียง หรือการแสวงหาความสำเร็จส่วนบุคคลไม่ว่าโดยวิธีใด สิ่งเหล่านี้ได้แปรเปลี่ยนความเชื่อให้กลับกลายเป็นเรื่องส่วนตัว เรื่องซ่อนเร้น ที่ไม่ต้องแบ่งปันหรือกล่าวถึงในวงสังคม

ในบริบททางวัฒนธรรมเช่นนี้ การศึกษาจึงปรากฎเป็นประเด็นเร่งด่วน ดังนั้นหน้าที่ของโรงเรียนคือการเข้าถึงจิตใจมนุษย์ และพัฒนาความสามารถในการจุดประเด็นการตั้งคำถามต่อความหมายของชีวิตและความเป็นจริง ซึ่งกำลังอันตรธานไปจากการรับรู้ของผู้คน

คตินิยมลดทอน (Reductionism) แบบเน้นโครงสร้างหน้าที่ หรือการศึกษาแบบองค์รวม?

โรงเรียนทั่วโลกต่างก็มีความห่วงใยร่วมกัน ซึ่งอาจกล่าวได้ว่าเป็นความท้าทายของความท้าทายทั้งหลายเลยทีเดียว กล่าวคือความห่วงใยในกรอบสังคมและเศรษฐกิจของโลกใบเล็กที่เราอาศัยอยู่ อาทิ การที่ทุกอย่างต้องกลับเป็นเพียงเครื่องมือเพื่อเป้าหมายของผลประโยชน์ มาตรฐานของผลประโยชน์ที่กลายเป็นตัวกำหนดการตัดสินใจเลือกต่างๆ การตีค่าเกินควรของประสิทธิผล การมุ่งแต่ความสำเร็จโดยไม่นำพาถึงสิ่งใดๆ สิ่งเหล่านี้ได้ปรากฎว่าเป็นภัยคุกคามที่ใหญ่ที่สุดต่อการส่งเสริมวิธีการที่ให้ความสำคัญต่อความเป็นมนุษย์ ดังนั้นเราจึงพบว่า การศึกษากำลังถูกท้าทายในระดับคุณค่าที่ลึกซึ้งที่สุดของมัน อาทิ ความสำคัญเป็นอันดับต้นของตัวบุคคล คุณค่าของความป็นชุมชน การแสวงหาความดีส่วนรวม การเอาใจใส่ผู้อ่อนแอ ความห่วงใยต่อผู้ด้อยโอกาส ความร่วมมือกัน และความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียว 

โรงเรียนจึงจำเป็นต้องยืนยันถึงคุณค่าของตัวบุคคลมนุษย์ต่อสังคมที่ให้ความสำคัญต่อปัจเจกนิยมแบบมุ่งแข่งขัน และก่อให้เกิดความไม่ทัดเทียมกัน การให้ความสำคัญต่อตัวบุคคลมนุษย์โน้มน้าวให้เรารู้จักเคารพความคิดเห็นของผู้อื่น รู้จักเปิดใจต่อการถกปัญหาและการประชุมปรึกษาหารือในบรรยากาศของมิตรภาพและความร่วมมือ

การศึกษามุ่งที่จะช่วยสร้างสังคมที่มีความเป็นมนุษย์มากขึ้น ยุติธรรมมากขึ้น และเป็นหนึ่งเดียวกันมากขึ้น ในโลกที่ได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงทางสังคมครั้งใหญ่และโลกาภิวัฒน์ ซึ่งยังผลให้สถาบันครอบครัวตกในภาวะวิกฤติหนักหน่วง เราจึงกำลังเผชิญกับวัฒนธรรมของการขาดความลึกซึ้งของชีวิตภายใน ในสถานการณ์เช่นนี้ เรามีความต้องการจำเป็นที่จะกลับมาค้นพบความหมายของชีวิตอีกครั้ง โรงเรียนจึงควรตอบโจทย์ความท้าทายเหล่านี้โดยอาศัยคุณค่าที่แท้จริงของตน

เราสามารถสรุปเค้าโครงของลักษณะร่วมบางประการที่ปรากฎอยู่โดยทั่วไปในอัตลักษณ์โรงเรียนคุณภาพดังต่อไปนี้
  • บรรยากาศที่ชัดเจนของความมีชีวิตชีวา ชีวิตความเชื่อที่ชึมซาบอยู่ในตัวปริบุคคล
  • ความตระหนักในความยุติธรรมในสังคมและการแสวงหาความดีส่วนรวม การสร้างสังคมแห่งเอกภาพและภราดรภาพ
  • การมีส่วนร่วมของนักเรียนในกิจกรรมนอกโรงเรียน การเยี่ยมเยือนเพื่อเกื้อกูลสถาบันที่ต้องการความช่วยเหลือ การจุนเจือชุมชนที่ขัดสน การรณรงค์เพื่อความสามัคคี กิจกรรมเหล่านี้เป็นการยึดโยงหลักสูตรการศึกษากับการบริการสนับสนุน
  • ความตระหนักต่อความเป็นชุมชน บรรยากาศครอบครัว และการยินดีต้อนรับ
  • การมุ่งพัฒนาปรับปรุงคุณภาพของความสัมพันธ์ระหว่างบุคคล
  • ความสำคัญของการรวมพลังระหว่างครอบครัว โรงเรียน และนักเรียน เพื่อเอาชนะปัญหาอุปสรรคต่างๆ
  • ความตระหนักว่าการศึกษาไม่ได้เป็นเพียงความรู้ แต่เป็นมวลประสพการณ์และการปฏิบัติ การรู้คือการรู้ว่าต้องปฏิบัติอย่างไร

ในการเผชิญกับสังคมที่แบ่งแยก เป็นปัจเจกนิยม และแล้งน้ำใจ การศึกษาจึงต้องมุ่งสู่การบริรูปหล่อหลอมแบบองค์รวมของตัวบุคคลมนุษย์ ประสพการณ์การเรียนรู้จึงควรมีลักษณะของการเปิดโอกาสที่หลากหลายสำหรับเยาวชน เพื่อทำให้พวกเขาเติบโตและพัฒนาทักษะและพรสวรรค์ของตน โรงเรียนควรให้ความเอาใจใส่ต่อมิติด้านสติปัญญา อารมณ์ สังคม วิชาชีพ จริยธรรม และจิตวิญญาณ นักเรียนแต่ละคนควรได้รับการส่งเสริมให้พัฒนาพรสวรรค์ของตนในบรรยากาศของความร่วมมือและความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน

2. ความท้าทายของการศึกษาแบบองค์รวม

สังคมร่วมสมัยกำลังประสบปัญหาต่างๆ มากมาย ซึ่งก่อให้เกิดภาวะที่เราเรียกว่าภาวะฉุกเฉินทางการศึกษาซึ่งหมายถึงภาวะความยากลำบากที่ทวีคูณ ซึ่งการจัดกิจกรรมการศึกษากำลังประสบ การถ่ายทอดคุณค่าพื้นฐานสำหรับการดำรงชีวิตและการประพฤติชอบให้กับชนรุ่นใหม่กำลังกลายเป็นสิ่งที่ยากเย็นแสนเข็ญ เรื่องนี้เป็นจริงทั้งสำหรับผู้ปกครองผู้กำลังรู้สึกได้ถึงความเสื่อมทรุดของความสามารถของตนในการอบรม และสำหรับนักการศึกษาทั่วไป ภาวะดังกล่าวนำมาซึ่งความท้าทายสำหรับโรงเรียนที่จะช่วยเสริมสร้างคุณค่าทางจริยธรรมและทางมนุษยวิทยาในมโนธรรมและวัฒนธรรมของปัจเจกบุคคล ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญในการสร้างสังคมที่มีพื้นฐานอยู่บนภราดรภาพและความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน

มีลักษณะเด่นบางประการของโรงเรียนคาทอลิกแบบองค์รวม
  • ความเคารพต่อศักดิ์ศรีและความมีเอกลักษณ์ของแต่ละบุคคล
  • โอกาสต่างๆ ที่จะเติบโตและเรียนรู้
  • การให้ความสำคัญอย่างสมดุลย์ต่อมิติต่างๆ ของการเรียนรู้
  • การเอื้อต่อการพัฒนาพรสวรรค์ต่างๆ ในบรรยากาศของความร่วมมือและความเป็นหนึ่ง
  • ความเคารพต่อความคิดของแต่ละคน การเปิดกว้างต่อการเสาวนา ความสามารถในการปฏิสัมพันธ์และทำงานร่วมกัน ในจิตตารมณ์ของอิสรภาพและความห่วงใยกัน

ลักษณะเด่นเหล่านี้ย้ำให้เห็นความสำคัญของวิธีการพัฒนาบุคคลแบบองค์รวม นี่คือการศึกษาที่ส่งเสริมให้นักเรียนพัฒนาคุณค่าและคุณธรรมต่างๆ ซึ่งจำเป็นสำหรับชีวิตที่มีความสุขและมีความหมาย

การสอนที่เป็นเครื่องมือของการอบรม

โรงเรียนคาทอลิกโฟกัสทั้งในสิ่งที่นักเรียนเรียนและในวิธีที่นักเรียนเรียน โฟกัสในวิธีการสอนที่หล่อเลี้ยงคุณค่าสำคัญได้แก่ ความชื่นชม ความไว้เนื้อเชื่อใจ ความเคารพ และมิตรภาพ โดยพยายามขจัดปัจเจกนิยม ความเป็นปรปักษ์ และความเย็นชาต่อกัน ดังนั้นโรงเรียนจึงพยายามจัดโปรแกรมการเรียนที่เปิดโอกาสให้นักเรียนเติบโตทั้งแบบส่วนบุคคลและแบบเป็นกลุ่มด้วยกัน เป้าหมายไม่ได้อยู่ที่การถ่ายทอดสาระสนเทศและความรู้เท่านั้น แต่อยู่ที่การถ่ายทอดคุณค่าและหลักการด้วย เราไม่ได้มองเฉพาะผลสัมฤทธิ์การเรียนที่ได้ แต่มองวิธีการที่เราใช้ด้วย

ผู้เรียนเป็นศูนย์กลาง

องค์ประกอบสำคัญประการหนึ่งของโรงเรียนคือการให้ความสำคัญต่อปัจเจกบุคคลและการรับใช้ผู้อื่น เปิดโอกาสให้ตัวบุคคลเติบโตในมิติด้านในและแบบองค์รวม นักเรียนมีความต้องการจำเป็นที่จะได้รับมวลประสพการณ์ที่นำไปสู่การพัฒนาในมิติด้านสติปัญญา ความรู้สึก สังคม จริยธรรม จิตวิญญาณ และวิชาชีพ โรงเรียนจึงต้องเอาใจใส่อย่างสม่ำเสมอในการพัฒนาความเป็นมนุษย์ การพัฒนาตัวบุคคล และการพัฒนาบุคลิกภาพ 

การพัฒนามีมิติสำคัญ 3 มิติ:
  • การพัฒนาคือการเรียนรู้และการสร้างโอกาสแห่งการเรียนรู้สำหรับทุกคน 
  • การพัฒนาต้องยึดโยงกับสภาพแวดล้อมที่ชุมชนเผชิญอยู่และที่ประชาคมต่างๆ ดำเนินการอยู่ 
  • การพัฒนาทางวิชาชีพและการบริรูปหล่อหลอมบุคลากร
มีความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องสร้างสภาพแวดล้อมแห่งการเรียนรู้ซึ่งนำไปสู่การพัฒนาการบริรูปหล่อหลอมผู้เรียนอย่างแท้จริง สิ่งนี้เกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อการเรียนรู้ยึดโยงกับการทำงานร่วมกับผู้อื่น


. อัตลักษณ์การศึกษาคาทอลิก


อัตลักษณ์การศึกษาคาทอลิกสามารถอธิบายให้เข้าใจได้ชัดเจนด้วยความคิดเชิงระบบ ซึ่งมีองค์ประกอบสำคัญได้แก่ 1. ตัวป้อน: ปรัชญา เป้าหมาย หลักการ คุณลักษณะ 2. กระบวนการ: ครู นักเรียน พระหรรษาทน 3. ผลลัพธ์: ลักษณะพึงประสงค์ บรรยากาศโรงเรียน

1. ตัวป้อน

ปรัชญาการศึกษาคาทอลิก

นักบุญโทมัสผู้ที่สมเด็จพระสันตะปาปาเลโอที่ 13 ในปี 1880 ทรงประกาศให้เป็นองค์อุปถัมภ์ของสถาบันการศึกษาคาทอลิก ได้กล่าวถึงจุดมุ่งหมายของการศึกษาคาทอลิกว่า การศึกษาคือการบริรูปหล่อหลอมมนุษย์ใหม่จนกระทั่งเขาเปี่ยมด้วยคุณธรรม(Education is the forming of ‘new man’ up to the point of virtue.)

การศึกษาที่แท้มุ่งสู่การบริรูปหล่อหลอมตัวบุคคลมนุษย์ในการแสวงหาจุดหมายปลายทางสุดท้ายของตนและประโยชน์สุขของสังคม (GE 1)

การศึกษาคาทอลิกเป็นการศึกษาเพื่อตัวบุคคลมนุษย์ และการศึกษาของตัวบุคคลมนุษย์ การศึกษาคาทอลิกมีจุดศูนย์กลางอยู่ที่การส่งเสริมตัวบุคคลของมนุษย์แต่ละคน พร้อมกับความต้องการจำเป็นทั้งด้านวัตถุและด้านจิตวิญญานของพวกเขา (CS 9) 

ความซับซ้อนของโลกปัจจุบันทำให้มีความจำเป็นที่จะต้องตระหนักมากขึ้นถึงแก่นแท้ของการจัดการศึกษา กระแสเรียกที่แท้จริงของการจัดการศึกษาคาทอลิกคือการให้การบริรูปหล่อหลอมเชิงบูรณภาพของตัวบุคคลมนุษย์ ด้วยกิจกรรมการศึกษาที่มุ่งสร้างการบูรณาการวัฒนธรรม ความเชื่อ และชีวิต (ET3)

เป้าหมายการศึกษาคาทอลิก

เป้าหมายการศึกษาคาทอลิกคือเรื่องของการบริรูปหล่อหลอมแบบองค์รวมของมนุษย์ (the cause of the total formation of man) (CS 15)

เป้าหมายการศึกษาคาทอลิกสำหรับนักเรียนทุกคน 

การศึกษาคาทอลิกมีเป้าหมายไม่เพียงเฉพาะเพื่อพัฒนาสมรรถนะสติปัญญาอย่างเอาใจใส่เท่านั้น แต่รวมทั้งเพื่อบริรูปหล่อหลอมความสามารถในการวินิจฉัยอย่างถูกต้อง เพื่อถ่ายทอดมรดกทางวัฒนธรรมไปสู่ชนรุ่นต่อ ไป เพื่อเสริมสร้างคุณค่า และเพื่อเตรียมสู่การประกอบอาชีพการงาน (GE 5)

เป้าหมายการศึกษาคาทอลิกสำหรับนักเรียนคาทอลิก 

การศึกษาคาทอลิกมีเป้าหมายหลักเพื่อให้ผู้ได้รับศีลล้างบาปมีความตระหนักมากยิ่งขึ้นถึงพระคุณแห่งความเชื่อที่พวกเขาได้รับ และพวกเขาจะได้เรียนรู้ถึงการนมัสการพระเจ้าพระบิดาในองค์พระจิตและในความจริง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในวัตรปฏิบัติของพิธีกรรม และการดำเนินชีวิตของตนตามแบบอย่างของมนุษย์ใหม่ที่ถูกสร้างในความชอบธรรมและความศักดิ์สิทธ์แห่งความจริง (เทียบ อฟ 4:22-24) อีกทั้งพวกเขาจะได้รับการพัฒนาให้เป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ในองค์พระคริสตเจ้า (เทียบ อฟ 4:13) และยังเรียนรู้เกี่ยวกับการมีส่วนร่วมในการบริรูปหล่อหลอมโลกตามแบบคริสต์ ซึ่งเกิดขึ้นเมื่อพวกเขาใช้สมรรถภาพตามธรรมชาติเพื่อสร้างประโยชน์สุขของสังคม (GE 2)

หลักการการศึกษาคาทอลิก

หลักการการบูรณาการวัฒนธรรม ความเชื่อ และชีวิต

ภารกิจของโรงเรียนคาทอลิกโดยพื้นฐานแล้วคือการบูรณาการวัฒนธรรมกับความเชื่อ และการบูรณา การความเชื่อกับชีวิต: อย่างแรกสำเร็จเมื่อบูรณาการความรู้ทุกแง่ทุกมุมของรายวิชาที่สอนในแสงแห่งพระวรสาร อย่างหลังสำเร็จเมื่อมีการเจริญชีวิตตามคุณธรรมที่มีลักษณะเฉพาะของคริสตธรรม” (CS 37, ET 24) “โรงเรียนถือว่าความรู้ของมนุษย์เป็นความจริงที่ต้องค้นหา ลักษณะคาทอลิกคือ ในการสอนวิชาต่างๆ ผู้สอนตระหนักและมุ่งมั่นแสวงหาความจริง” (CS 42) กระนั้นก็ดีมรดกทางวัฒนธรรมของมนุษย์ยังครอบคลุมถึงคุณค่าอื่นๆ นอกเหนือจากคุณค่าในบริบทของความจริง เมื่อครูช่วยให้นักเรียนเข้าใจ เห็นค่า และซึมซับคุณค่าต่างๆ เหล่านี้  เขากำลังนำนักเรียนไปสู่ความจริงนิรันดร” (CS 42)  ดังนั้น การบูรณาการวัฒนธรรม ความเชื่อ และชีวิต ก็คือการบูรณาการคุณค่าพระวรสารในการจัดการเรียนการสอน   และการจัดการเรียนการสอนจะต้องช่วยให้นักเรียนไตร่ตรองจนเห็นค่าคุณค่าพระวรสาร แล้วนำคุณค่าพระวรสารไปปฏิบัติในชีวิตนั่นเอง
จุดมุ่งหมายของการศึกษาคือการประสิทธิประสาทความรู้และการถ่ายทอดคุณค่า ความรู้ถือเป็นคุณค่าประการหนึ่ง กล่าวคือ คุณค่าของความจริง แต่ในมรดกทางวัฒนธรรมมนุษย์ ยังมีคุณค่าอื่นๆ อีกมากมายที่ต้องได้รับการถ่ายทอดโดยกระบวนการทางการศึกษา
ระดับชั้นของคุณค่าศึกษามี 3 ขั้น ได้แก่
1. เข้าใจ   เข้าใจลึกซึ้งจนถ่ายทอดได้
2. ยอมรับ ยอมรับต่อสาธารณะ
3. ปฎิบัติ  ปฎิบัติซ้ำจนเป็นวิถีชีวิต
ดังนั้น การบูรณาการวัฒนธรรม ความเชื่อ และชีวิต เกิดขึ้นครบถ้วน เมื่อมีกระบวนการพัฒนาคุณค่าศึกษาถึงระดับชั้นสูงสุด กระบวนการดังกล่าวจึงเป็นการเจริญเติบโตในคุณธรรม 

หลักการการบูรณาการคุณค่าพระวรสาร

หลักการการบูรณาการวัฒนธรรม ความเชื่อ และชีวิต เมื่อแปลงสู่ภาคปฏิบัติก็คือการบูรณาการคุณค่าพระวรสารในรายวิชาและในชีวิตโรงเรียนนักเรียนแต่ละคนจะต้องเป็นประจักษ์พยานของคุณค่าพระวรสารในชีวิตประจำวันของตน” (RD 103) ดังนั้นครูในโรงเรียนคาทอลิกจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องรู้ว่าคุณค่าพระวรสารคืออะไร คุณค่าพระวรสาร 30 ประการที่จะนำเสนอในหัวข้อถัดไป (ข้อ .) เป็นผลของการวิเคราะห์คุณค่าพระวรสารที่เป็นแรงบันดาลใจของโรงเรียนคาทอลิกในประเทศไทยและทั่วโลก โดยพิจารณากับเอกสารของพระศาสนจักรและตัวบทหนังสือพระวรสาร การกำหนดคุณค่าพระวรสาร 30 ประการนี้เป็นประโยชน์ในการอ้างอิงเพื่อโรงเรียนคาทอลิกในประเทศไทยจะร่วมกันกำหนดหลักสูตรบูรณาการคุณค่าพระวรสาร  และเพื่อแบ่งปันตัวอย่างแผนการจัดการเรียนรู้ที่บูรณาการคุณค่าพระวรสารภายในกลุ่มโรงเรียน 

ลักษณะสำคัญห้าประการของโรงเรียนคาทอลิก

พระอัครสังฆราช ไมเคิ้ล มิลเลอร์ อดีตเลขาธิการพระสมณกระทรวงการศึกษาคาทอลิก ได้นำเสนอลักษณะสำคัญห้าประการของโรงเรียนคาทอลิกดังปรากฎในบทที่ 3 ของหนังสือของท่านชื่อว่าคำสั่งสอนของพระศาสนจักรเกี่ยวกับโรงเรียนคาทอลิกท่านย้ำว่าพระศาสนจักรได้กำหนดลักษณะสำคัญของโรงเรียนคาทอลิก อันได้แก่ โรงเรียนคาทอลิกต้องได้รับแรงบันดาลใจจากวิสัยทัศน์เหนือธรรมชาติ มีพื้นฐานอยู่บนมนุษยวิทยาคริสต์ มีจิตตารมณ์แห่งความเป็นหนึ่งและความเป็นชุมชน ซึมซาบด้วยโลกทัศน์คริสต์ตลอดท้ังหลักสูตร และเป็นประจักษ์พยานต่อพระวรสาร ซึ่งจะกล่าวในหัวข้อถัดไป (ข้อ .)

2. กระบวนการ  

การบริรูปหล่อหลอมบุคคลแบบคริสต์
            
ดังที่กล่าวไว้ข้างต้นว่า โรงเรียนมุ่งสู่การพัฒนาปริบุคคล การบริรูปหล่อหลอมบุคคลจึงเป็นเป้าหมาย
สูงสุดของการศึกษา การบริรูปหล่อหลอมบุคคลเกิดขึ้นจริงเมื่อโรงเรียนตระหนักและดำเนินการดังนี้:
  • การบริรูปหล่อหลอมเป็นกระบวนการของการเจริญเติบโตซึ่งมุ่งสู่เป้าหมายอุดมคติ ที่ข้ามพ้นขีดจำกัดของคุณค่ามนุษย์แบบโลกียวิสัย แต่กลมกลืนกับคุณค่าโลกุตระ (RD 98)
  • การบริรูปหล่อหลอมมุ่งที่พัฒนาการอย่างเป็นลำดับของแต่ละสมรรถนะของนักเรียนแต่ละคน ทำให้เขาบรรลุการบริรูปหล่อหลอมเชิงบูรณภาพในบริบทที่ครอบคลุมมิติทางศาสนา และตระหนักถึงความช่วยเหลือของพระหรรษทาน ทั้งนี้จำเป็นต้องอาศัยการรวมพลังทุ่มเทของครูทุกๆ คน (RD 99)
  • กระบวนการบริรูปหล่อหลอมเน้นการตั้งคำถามอย่างสม่ำเสมอว่า อะไร” “อย่างไร” “ทำไมต่อความจริงที่เรียน จากนั้นจึงชี้ให้เห็นและเจาะลึกถึงผลลัพธ์ที่เป็นวิถีบวกของการตรวจสอบความจริงนี้” (RD 108)
  • กระบวนการบริรูปหล่อหลอมบุคคลเป็นผลของการทำงานร่วมกันระหว่างการทำงานอย่างเชี่ยวชาญของครูด้วยใจรัก ความร่วมมืออย่างอิสระของนักเรียน และความช่วยเหลือของพระหรรษทาน (RD 107)
  • โรงเรียนต้องให้ความสำคัญต่อบรรยากาศโรงเรียน อันเป็นมวลประสบการณ์ของปฏิสัมพันธ์ระหว่างบุคคล ที่จะต้องส่งผลกระทบเชิงบวกต่อกระบวนการบริรูปหล่อหลอมของโรงเรียน (RD 24)

3. ผลลัพธ์

คุณลักษณะพึงประสงค์ของผู้เรียน

จากการวิเคราะห์เอกสารพระศาสนจักรเกี่ยวกับการศึกษาทั้ง 7 ฉบับ พบว่าคุณลักษณะที่เป็นอัตลักษณ์ของผู้สำเร็จการศึกษาจากสถาบันการศึกษาคาทอลิกได้แก่:
1. การบูรณาการวัฒนธรรม ความเชื่อ และชีวิต
2. ความตระหนักต่อโลกุตระ ความอ่อนไหวต่อมิติทางศาสนา
3. อิสระชน
4. มโนธรรม วิจารณญาณ และคุณค่า
5. ความรัก มิตรภาพ
6. ความใส่ใจ การรับใช้ ความตระหนักทางสังคม การอุทิศตน
7. วัฒนธรรมแห่งสันติ การดำรงอยู่ร่วมกัน ความสัมพันธ์
8. พระคริสต์องค์ต้นแบบ
9. ความรักศรัทธาต่อพระแม่มารีย์
(ดูลักษณะเฉพาะของผู้ได้รับการศึกษาอบรมในสถาบันการศึกษาคาทอลิก”, วารสารรายปี ปีที่ 39 ฉบับเดือนสิงหาคม 2551-กรกฎาคม 2552 หน้า 135-143, 2552, สภาการศึกษาคาทอลิก)

บรรยากาศโรงเรียน
            
บรรยากาศโรงเรียนมิได้อยู่ที่บรรยากาศภายนอกเท่านั้น แต่อยู่ที่บรรยากาศด้านในเป็นประการสำคัญ ศาสตร์การบริหารองค์กรมองบรรยากาศองค์กรในแง่ที่เป็นความสัมพันธ์ระหว่างบุคคลากรในองค์กร ดังนั้นองค์ประกอบต่อไปนี้เป็นลักษณะที่สำคัญของความสัมพันธ์ระหว่างบุคคล (RD 103-111)
  • ทุกคนตระหนักและเห็นพ้องในเป้าหมายทางการศึกษา และให้ความร่วมมือในการทำให้บรรลุผล
  • นักเรียนแต่ละคนได้รับการท้าทายให้ออกแรงพยายามที่จะบรรลุถึงระดับสูงสุดของการบริรูปหล่อหลอมบุคคล
  • มีการส่งเสริมการมีส่วนร่วมของผู้ปกครอง วัด และชุมชน
  • ความสัมพันธ์ระหว่างบุคคล มีรากฐานบนความรักและอิสรภาพ
  • ครูรักนักเรียน และแสดงให้เห็นถึงความรักนี้เมื่อมีปฏิสัมพันธ์กับพวกเขา และนักเรียนสนองตอบด้วยความรัก
  • ครูสวดภาวนาให้นักเรียนแต่ละคน และนักเรียนเรียนรู้ที่จะสวดภาวนาให้ครู
  • บทบาทที่เป็นอัตลักษณ์ของโรงเรียนคือการสร้างชุมชนการศึกษาที่มีบรรยากาศพิเศษ อันเปี่ยมด้วยจิตตารมณ์แห่งความรักและอิสรภาพ


. คุณค่าพระวรสาร 30 ประการ

คุณค่าพระวรสารคืออะไร 

คุณค่าพระวรสารคือคุณค่าที่พระเยซูสั่งสอนและเจริญชีวิตเป็นแบบอย่างแก่ ดังที่มีบันทึกในพระคัมภีร์พระวรสารซึ่งแปลว่าข่าวดี อันหมายถึงข่าวดีแห่งความรอดพ้นของมนุษย์ และข่าวดีแห่งความรักของพระเจ้าผู้รักมนุษย์จนกระทั่งประทานพระบุตรของพระองค์มาบังเกิดเป็นมนุษย์เพื่อแสดงพระธรรมแก่มนุษย์ และทำการกอบกู้มนุษย์ให้พ้นจากทุกข์ด้วยอัศจรรย์ต่างๆ และทรงสิ้นพระชนม์บนไม้กางเขนเพื่อไถ่กู้มนุษย์ให้รอดพ้นจากบาป แล้วทรงกลับคืนพระชนมชีพเพื่อบันดาลให้มนุษย์ได้รับชีวิตนิรันดร 


1. ความเชื่อ 
ความเชื่อหมายถึง ความเชื่อศรัทธาในพระเจ้า ความเชื่อในความเป็นจริงของจิตวิญญาณและในมิติทางศาสนาของชีวิต หากเรามีความเชื่อศรัทธา อัศจรรย์จะเกิดขึ้นในชีวิตของเรา 
2. ความจริง 
ชีวิตของเราเป็นการแสวงหาความจริง  ความจริงของโลก  ของชีวิต และของมนุษย์ พระองค์สอนเราว่า ความจริงทำให้เราเป็นไท บุคคลที่ไม่ซื่อตรงคือบุตรแห่งปีศาจผู้มีแต่ความเท็จ 
3. การไตร่ตรอง / ภาวนา 
พระเยซูสอนให้เรารู้คุณค่าของความสงบและการไตร่ตรอง เพื่อหาความหมายของสิ่งที่เกิดขึ้นในชีวิต การไตร่ตรองนำไปสู่การเข้าใจ ยอมรับ และปฏิบัติคุณค่าจนเกิดผลมากมาย พระเยซูภาวนาเมื่อประกอบภารกิจสำคัญ เมื่อมีการประจญ และเมื่อมีวิกฤติของชีวิต พระองค์สอนเราให้ภาวนาอยู่เสมอ
4. มโนธรรม / วิจารณญาณ / ความกล้าหาญเชิงศีลธรรม
พระเยซูสอนให้เรามีความกล้าหาญเด็ดเดี่ยวในการรักษาศีลธรรม มีมโนธรรมเที่ยงตรง มีวิจารณญาณแยกแยะชั่วดี รู้จักตัดสินใจเลือกทางแห่งความดีงาม และยึดมั่นในทางแห่งความดี แม้ในสถานการณ์ที่เราถูกคุกคาม
5. อิสรภาพ 
พระเยซูสอนว่า  “ความจริงทำให้เราเป็นอิสระ”     ซึ่งหมายถึงความเป็นอิสระจากการเป็นทาสของบาป 
เราปฏิบัติหน้าที่ของเราด้วยความเชื่อมั่น ด้วยความรัก มิใช่ด้วยความกลัว 
6. ความยินดี
ความยินดีเป็นผลของประสพการณ์การสัมผัสความรักของพระเจ้า พระเยซูสอนให้เรามีใจเบิกบานอยู่เสมอ เพราะชื่อของเราถูกจารึกไว้ในสวรรค์แล้ว ไม่มีสิ่งใดทำให้เราหวั่นไหว เพราะพระเจ้ารักเรา 
7. ความเคารพ / ศักดิ์ศรี 
มนุษย์ถูกสร้างตามพระฉายาลักษณ์ของพระเจ้า มนุษย์เป็นลูกของพระเจ้า ดังนั้น ชีวิตมนุษย์จึงมีความศักดิ์สิทธิ์ พระเยซูสอนให้เราเคารพศักดิ์ศรีของตนเอง และของกันและกัน เราแต่ละคนมีค่ามากในสายพระเนตรของพระเจ้า 
8. ความสุภาพถ่อมตน 
พระเยซูเชื้อเชิญให้เราเลียนแบบพระองค์ผู้มีใจอ่อนโยนและสุภาพ คำสอนหลักของพระองค์คือ ผู้ใดถ่อมตัวลง ผู้นั้นจะได้รับการยกย่องให้สูงขึ้น ผู้ใดมีใจสุภาพอ่อนโยนผู้นั้นย่อมเป็นสุข 
9. ความซื่อตรง 
พระเยซูคาดหวังให้เราเป็นมนุษย์ใหม่มนุษย์ที่ซื่อตรง ชอบธรรม ดำรงตนอยู่ในศีลธรรม ไม่หน้าซื่อใจคด ไม่เบียดเบียนผู้อื่น ผู้ซื่อตรงต้องเริ่มจากการซื่อสัตย์ในสิ่งเล็กน้อย ผู้ซื่อตรงจะเกิดผลมากมาย 
10. ความเรียบง่าย / ความพอเพียง 
พระเยซูเจริญชีวิตที่เรียบง่าย คลุกคลีกับประชาชนคนสามัญ ทุกคนเข้าหาพระองค์ได้แม้แต่เด็กๆ พระองค์สอนเรามิให้กังวลใจในเครื่องแต่งกาย ในอาหารการกิน เพราะพระเจ้าดูแลชีวิตของเราทุกคน สุนัขจิ้งจอกยังมีโพรง และนกในอากาศยังมีรัง แต่พระองค์ไม่มีที่ที่จะวางศีรษะ
11. ความรัก
ความรักแท้สูงส่งกว่าความรักใคร่ ความรักไม่เห็นแก่ตัว ไม่หวังสิ่งตอบแทน มอบแก่ทุกคน ความรักเอาชนะอารมณ์ความรู้สึก จนสามารถรักแม้แต่อริ หลักปฏิบัติพื้นฐานของความรักคือ ปฏิบัติต่อผู้อื่นดังที่เราอยากให้ผู้อื่นปฏิบัติต่อเรา หลักปฏิบัติขั้นสูงคือ รักกันและกันเหมือนที่พระเจ้าทรงรักเรา
12. เมตตา 
พระองค์เมตตาต่อทุกคน คนเจ็บป่วย คนตกทุกข์ได้ยาก และคนด้อยโอกาส พระองค์ร่วมทุกข์กับคนที่มีความทุกข์ พระองค์สอนให้เราเป็นผู้เมตตาเหมือนพระบิดาทรงเป็นผู้เมตตา 
13. ความกตัญญูรู้คุณ
พระเยซูตรัสชมเชยผู้ที่ได้รับการรักษาจากโรคที่กลับมาขอบคุณพระองค์ พระเยซูขอบคุณพระเจ้าในทุกขณะ พระองค์สอนให้เรารู้จักกตัญญูรู้คุณต่อพระเจ้า  และต่อทุกคนที่มีบุญคุณต่อเรา
14. การงาน / หน้าที่ 
พระเยซูสอนให้เราเห็นคุณค่าของการทำงาน ผู้ที่ทำงานก็สมควรได้รับค่าตอบแทน พระองค์จะประทานรางวัลแก่ทุกคนตามการทำงานของแต่ละคน พระองค์ยังสอนว่าการทำงานและหน้าที่ของตนเป็นการถวายเกียรติแด่พระเจ้า เราทำงานเพื่ออาหารที่คงอยู่เป็นชีวิตนิรันดร์ 
15. การรับใช้ 
พระเยซูเสด็จมาในโลกเพื่อมารับใช้ มิใช่มาเพื่อได้รับการรับใช้ พระองค์สอนสานุศิษย์ว่าพระองค์ผู้เป็นพระเจ้ายังรับใช้พวกเขา ดังนั้นพวกเขาต้องรับใช้ผู้อื่นเช่นเดียวกัน ผู้ใหญ่กว่าจะต้องรับใช้ผู้น้อย
16. ความยุติธรรม 
พระเยซูสอนให้เราแสวงหาความยุติธรรมให้กับผู้อื่นก่อนให้กับตนเอง ความยุติธรรมเรียกร้องให้เราเปิดใจกว้างต่อความต้องการของผู้อื่น โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ที่ด้อยกว่าเรา
17. สันติ / การคืนดี 
พระเยซูมอบสันติของพระองค์แก่เรา สันติเป็นผลมาจากความยุติธรรม เราสามารถนำสันติสู่สังคมที่เราอยู่โดยมีความสัมพันธ์ที่ดีต่อกันและกัน มีใจที่ปล่อยวาง หลุดพ้นจากความว้าวุ่นใจ หลีกเลี่ยงความรุนแรงทุกชนิด การคืนดีเป็นผลจากการเคารพซึ่งกันและกัน และใจที่เปิดต่อการเสวนา
18. อภัย 
พระเยซูสอนให้ภาวนาว่าโปรดอภัยแก่ข้าพเจ้า เหมือนที่ข้าพเจ้าอภัยให้ผู้อื่นที่ทำผิดต่อข้าพเจ้าพระเยซูให้อภัยแก่ผู้ที่ตรึงพระองค์ อภัยไม่มีขอบเขตเหมือนที่พระเจ้าให้อภัยแก่เราอย่างไม่มีขอบเขต 
19. ความเป็นหนึ่ง / ความเป็นชุมชน
มนุษย์ทุกคนมีพระบิดาองค์เดียวกัน มนุษย์จึงต้องสร้างสังคมมนุษย์ให้น่าอยู่  มีความเป็นพี่เป็นน้องกัน 
มีสายใยยึดเหนี่ยวกันอย่างมั่นคง เราแสดงความเป็นเจ้าของ และมีส่วนร่วมในชีวิตของชุมชนที่เราอยู่ 
20. ความมหัศจรรย์ใจ / รักษ์ธรรมชาติ
พระเยซูสอนให้เรามองดูดวงดาวบนท้องฟ้า นกที่บินในอากาศ ดอกไม้ในทุ่งหญ้า แล้วมองเห็นความยิ่งใหญ่ของพระผู้สร้างธรรมชาติ มองเห็นความน่าพิศวงของธรรมชาติ ที่ถูกสร้างมาเพื่อให้มนุษย์เอาใจใส่ดูแล เราจึงต้องหวงแหนธรรมชาติ  อนุรักษ์สิ่งแวดล้อม  พิทักษ์โลกของเราให้อนุชนรุ่นหลัง
21. ความหวัง
ความหวังมีพื้นฐานอยู่บนคำสัญญาของพระเยซูว่า พระองค์มาเพื่อกอบกู้มนุษย์ทุกคนให้ได้ความรอดพ้นจากบาป และมีชีวิตนิรันดร์ ความหวังทำให้เรามีความอดทน พากเพียร และมั่นคงในความดี

คุณค่าแรก ความเชื่อ เป็นพื้นฐานของทุกคุณค่า คุณค่ากลุ่มที่ 2-9 เป็นหน้าที่ต่อพระเจ้าและต่อตนเอง คุณค่าที่ 11 ความรัก เป็นจุดมุ่งหมายของทุกคุณค่า คุณค่ากลุ่มที่ 12-20 เป็นหน้าที่ต่อผู้อื่นและต่อสิ่งสร้าง คุณค่าสุดท้าย ความหวัง เป็นความมั่นคงของทุกคุณค่า

โรงเรียนคาทอลิกจัดการศึกษาตามหลักคริสตธรรมเพื่อบริรูปหล่อหลอมมโนธรรมตามคุณธรรมพื้นฐานและถาวร คุณธรรมที่สำคัญคือ คุณธรรมอันเกี่ยวเนื่องกับพระเจ้า ได้แก่ ความเชื่อ ความหวัง และความรัก โดยเฉพาะอย่างยิ่งความรัก ซึ่งเป็นจิตตารมณ์ที่บันดาลชีวิตและแปรสภาพมนุษย์ผู้เปี่ยมคุณธรรมให้เป็นมนุษย์ตามแบบพระคริสต์” (CS 47)


. ลักษณะสำคัญห้าประการที่เป็นอัตลักษณ์การศึกษาคาทอลิก 

คำสั่งสอนของสมเด็จพระสันตะปาปาและเอกสารต่างๆ ของพระศาสนจักรเน้นย้ำซ้ำๆ กันว่า คุณลักษณะบางประการจำต้องมีในโรงเรียนจึงจะถือว่าเป็นโรงเรียนคาทอลิกอย่างแท้จริง ดังที่ในบทแสดงความเชื่อ พระศาสนจักรประกาศถึงลักษณะสำคัญของพระศาสนจักร อันได้แก่ หนึ่งเดียว ศักดิ์สิทธิ์ สากล และสืบเนื่องจากอัครสาวก   ฉันใดฉันนั้น พระศาสนจักรก็กำหนดลักษณะสำคัญของโรงเรียนคาทอลิก  อันได้แก่ โรงเรียนคาทอลิกต้องได้รับแรงบันดาลใจจากวิสัยทัศน์เหนือธรรมชาติ มีพื้นฐานอยู่บนมนุษยวิทยาคริสต์  มีจิตตารมณ์แห่งความเป็นหนึ่งและความเป็นชุมชน ซึมซาบด้วยโลกทัศน์คริสต์ตลอดท้ังหลักสูตร และเป็นประจักษ์พยานต่อพระวรสาร เกณฑ์มาตรฐานเหล่านี้ให้คำตอบต่อคำถามวิกฤตที่ว่า: โรงเรียนนี้เป็นโรงเรียนคาทอลิกตามความคิดของพระศาสนจักรหรือไม่? ตรงอัตลักษณ์คาทอลิกนี่เอง ที่โรงเรียนยึดโยงกับความเป็นต้นกำเนิดซึ่งทำให้มันเป็นเครื่องมืออันถ่องแท้ของพันธกิจไถ่กู้ของพระศาสนจักร ให้เราสำรวจดูลักษณะแต่ละอย่างที่ก่อเกิดอัตลักษณ์คาทอลิก

1. ได้รับแรงบันดาลใจจากวิสัยทัศน์เหนือธรรมชาติ

พระศาสนจักรมองการศึกษาเป็นกระบวนการที่บริรูปหล่อหลอมเด็กทั้งครบ และมุ่งที่จะทำให้เด็กทอดสายตาจ้องมองสวรรค์ โดยตระหนักถึงจุดหมายปลายทางโลกุตระของมนุษย์ จุดประสงค์เฉพาะของการศึกษาคาทอลิกคือการบริรูปหล่อหลอมเด็กๆ ให้เป็นพลเมืองที่ดีของโลกนี้ ให้รักพระเจ้าและเพื่อนมนุษย์ และทำให้สังคมมั่งคั่งด้วยเชื้อแป้งแห่งพระวรสาร นอกจากนี้แล้ว ยังมุ่งทำให้เด็กๆ เป็นพลเมืองแห่งโลกที่จะมาถึง โดยทำให้จุดหมายชีวิตแห่งการเป็นผู้ศักดิ์สิทธิ์ได้กลับเป็นความจริง

สมเด็จพระสันตะปาปายอหน์ พอล ที่สอง ได้ทรงนำเสนอความท้าทายเร่งด่วนของการกำหนดเป้าหมายการศึกษาคาทอลิกอย่างชัดเจน และการประยุกต์ใช้วิธีที่เหมาะสม นี่คือความท้าทายของการทำความเข้าใจอย่างถ่องแท้ต่อการจัดการศึกษา การประเมินผลเนื้อหาของมันอย่างเหมาะสม และการถ่ายทอดความจริงที่ครบถ้วนเกี่ยวกับตัวบุคคลมนุษย์ ซึ่งได้ถูกสร้างขึ้นตามพระฉายาลักษณ์ของพระเจ้า และถูกเรียกให้เจริญชีวิตในพระคริสตเจ้า โดยทางองค์พระจิตเจ้า

ในปัจจุบัน มีความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะเน้นย้ำความสำคัญของศักดิ์ศรีที่มิอาจแยกออกได้ของตัวบุคคลมนุษย์ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง มิติทางจิตวิญญานของเขา แต่น่าเสียดายที่ผู้คนจำนวนมากทั้งในรัฐบาล ภาคธุรกิจ สื่อสารมวลชน และแม้กระทั่งวงการการศึกษา ต่างก็รับรู้การจัดการศึกษาว่าเป็นเพียงเครื่องมือในการสั่งสมข้อมูลที่จะช่วยเพิ่มโอกาสที่จะประสบความสำเร็จทางโลก และมาตรฐานการดำรงชีวิตที่สะดวกสบายมากขึ้น วิสัยทัศน์อันเจือจางเช่นนี้ไม่ใช่วิสัยทัศน์คาทอลิก  

2. มีพื้นฐานอยู่บนมนุษยวิทยาคริสต์  

เอกสารของพระศาสนจักรสอนว่า โรงเรียนที่สมกับกับชื่อคาทอลิกจะต้องมีรากฐานอยู่บนพระคริสต์ พระผู้ไถ่ ผู้ร่วมเป็นหนึ่งเดียวกับนักเรียนแต่ละคน อาศัยการรับเอากายเป็นมนุษย์ของพระองค์ พระคริสต์มิได้เป็นสิ่งเพิ่มเติมในปรัชญาการศึกษาคาทอลิก แต่เป็นจุดศูนย์กลางของกิจกรรมการศึกษา หลักการแห่งพระวรสารของพระองค์เป็นแรงบันดาลใจ และเป็นแนวทางการจัดการศึกษาทั้งมวลของโรงเรียน ในทุกมิติของกิจกรรมและชีวิตโรงเรียน 

ปรัชญาการศึกษาของโรงเรียนจำต้องสร้างอยู่บนความเข้าใจที่ถูกต้องว่าบุคคลมนุษย์เป็นใคร มนุษยวิทยานี้ครอบคลุมถึงสิทธิของมนุษย์ ในขณะเดียวกันก็มองตัวบุคคลมนุษย์ในฐานะที่มีศักดิ์ศรีของการเป็นบุตรของพระเจ้า

3. มีจิตตารมณ์แห่งความเป็นหนึ่งและความเป็นชุมชน  

พระศาสนจักรเน้นย้ำถึงมิติของความเป็นชุมชนของโรงเรียน มิตินี้มีรากอยู่ในธรรมชาติเชิงสังคมของตัวบุคคลมนุษย์และในความเป็นจริงของพระศาสนจักรในฐานะบ้านและโรงเรียนแห่งการรวมเป็นหนึ่งการที่โรงเรียนคาทอลิกเป็นชุมชนการศึกษานี้นับเป็นพัฒนาการที่มีค่าที่สุดอันหนึ่งของโรงเรียนร่วมสมัย

พระศาสนจักรเน้นความเป็นหนึ่งใน 4 ด้าน: การทำงานเป็นทีมของผู้ร่วมงานทุกฝ่าย การร่วมมือระหว่างโรงเรียนกับพระศาสนจักรท้องถิ่น ปฏิสัมพันธ์ระหว่างนักเรียนกับครู และสิ่งแวดล้อมทางกายภาพ

4. ซึมซาบด้วยโลกทัศน์คริสต์ตลอดท้ังหลักสูตร 

ความเป็นคาทอลิกจะต้องไม่ปรากฎเพียงในวิชาคำสอน หรือวิชาคริสตศาสนา หรือในกิจกรรมอภิบาลเท่านั้น แต่จะต้องซึมซาบอยู่ในหลักสูตรทั้งหมด เอกสารพระศาสนจักรกล่าวถึงการศึกษาบูรณภาพ ซึ่งเป็นการศึกษาที่ตอบสนองต่อความต้องการทั้งหมดของตัวบุคคลมนุษย์

4.1 การแสวงหาปรีชาญาณและสัจธรรม
ในยุคสารสนเทศท่วมท้น โรงเรียนคาทอลิกต้องให้ความสนใจเป็นพิเศษในสมดุลย์เปราะบางระหว่างประสบการณ์กับความเข้าใจ ในคำของที เอส เอลีออท เราไม่อยากได้ยินนักเรียนกล่าวว่าเรามีประสบการณ์แต่ขาดความเข้าใจความท้าทายที่ใหญ่ที่สุดในสังคมอบายภูมิของทุกวันนี้ คือการพลิกฟื้นความมั่นใจว่ามนุษย์สามารถเข้าถึงความเป็นจริง และในการเข้าถึงความเป็นจริง มนุษย์สามารถรู้หน้าที่ของตนต่อพระเจ้า ต่อตนเอง และต่อเพื่อนมนุษย์ 
4.2 วัฒนธรรม ความเชื่อ และชีวิต
จากธรรมชาติของโรงเรียนคาทอลิกเอง เราพบองค์ประกอบที่สำคัญที่สุดของกิจกรรมการศึกษา กล่าวคือ การบูรณาการวัฒนธรรม ความเชื่อ และชีวิต ความพยายามที่จะถักทอเหตุผลกับความเชื่อนับเป็นหัวใจของวิชาแต่ละรายวิชา สิ่งนี้ก่อให้เกิดเอกภาพและความร่วมมือ ทำให้สิ่งที่เรียนรู้ในโรงเรียนเบ่งบานด้วยวิสัยทัศน์คริสต์ต่อโลก ต่อชีวิต ต่อวัฒนธรรม และต่อประวัติศาสตร์

5. เป็นประจักษ์พยานต่อพระวรสาร

ตัวบ่งชี้สุดท้ายของอัตลักษณ์คาทอลิกคือการเป็นประจักษ์พยานชีวิตของครูและผู้บริหาร พวกเขามีหน้าที่สำคัญที่จะสร้างบรรยากาศโรงเรียนคาทอลิกทั้งโดยส่วนตัวและโดยหมู่คณะ เอกสารพระศาสนจักรจึงเน้นย้ำถึงกระแสเรียกของครูและการร่วมส่วนในพันธกิจการประกาศพระวรสาร

การจ้างงานผู้ร่วมงานที่มีจริยธรรมสอดคล้องกับพระวรสารจึงเป็นเรื่องสำคัญที่สุดในการรักษาและส่งเสริมอัตลักษณ์คาทอลิก เหตุผลที่ความห่วงใยในการเลือกบุคลากรครูเป็นเหตผลที่ตรงไปตรงมา กล่าวคือ การศึกษาคาทอลิกได้รับการตอกย้ำโดยมรณะสักขีที่เป็นสักขีพยานแห่งพระวรสาร

สักขีพยานชีวิตที่โปร่งใสมีความสำคัญเช่นเดียวกันกับการมีโลกทัศน์คริสต์ในหลักสูตร นักเรียนซึมซับจากตัวอย่างของผู้อบรมมากกว่าจากเทคนิควิธีการสอนแบบมืออาชีพของเขา โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องคุณธรรมคริสต์ นักเรียนคาดหวังให้ผู้อบรมเป็นบุคคลต้นแบบในการเจริญชีวิตเป็นพยานถึงความงดงามของคุณค่าพระวรสาร


. โมเดลอันหนึ่งของการศึกษาคาทอลิก

โมเดลอันหนึ่งของการศึกษาคาทอลิกที่นำเสนอนี้นำแนวคิดของการศึกษาแบบองค์รวมกับอัตลักษณ์คาทอลิก โดยเฉพาะอย่างยิ่งลักษณะสำคัญห้าประการของโรงเรียนคาทอลิกมาบูรณาการกันเป็นแนวคิดที่ว่า การศึกษาคาทอลิกคือ การศึกษาฐานคุณค่าที่มุ่งคุณธรรมโดยเน้นการไตร่ตรองและการแปรสภาพบุคคล (The Reflective, Transformative, Values-based  and Virtue-oriented Education)

Reflective, Transformative, Values-based, Virtue-oriented Education

การถ่ายทอดคุณค่าพระวรสารมีความสำคัญอย่างยิ่งในการจัดการศึกษาคาทอลิก กล่าวโดยสรุป การศึกษาเป็น Reflective, Transformative, Values-based and Virtue-oriented Education การศึกษาที่แท้จริงเป็นการศึกษาซึ่งมีพื้นฐานบนคุณค่า (Values-based) มีจุดมุ่งหมายสูงสุดอยู่ที่การปลูกฝังคุณธรรม (Virtue-oriented) มีลักษณะ Reflective เพราะการศึกษาที่แท้จริงใช้การไตร่ตรองในกระบวนการเรียนรู้เพื่อพัฒนาทักษะการคิดจนถึงระดับการคิดขั้นสูง และใช้การไตร่ตรองเพื่อให้นักเรียนไม่เพียงได้รับความรู้เท่านั้น แต่ได้รับคุณค่าด้วย และมีลักษณะ Transformative เพราะการศึกษาที่แท้จริงมุ่งเน้นให้ชีวิตของนักเรียนได้รับการแปรสภาพโดยอาศัยคุณค่าที่ตนยอมรับ

1. การศึกษาที่เน้นการไตร่ตรอง (Reflective Education)

การศึกษาที่เน้นการไตร่ตรองคืออะไร 

การเรียนรู้แบบไตร่ตรอง คือวิธีจัดการศึกษาที่ทำให้ผู้เรียนไตร่ตรองประสบการณ์การเรียนรู้ของตนเอง นี่เป็นพัฒนาการของความคิดรวบยอดของการเรียนรู้เชิงประสบการณ์ที่นำเสนอโดย จอห์น ดูอี ในหนังสือHow we think : a restatement of the relation of reflective thinking to the educative process” (1933)

โดนัลด์ สคอน ใน The reflective practitioner - how professionals think in action (1983) ได้นำเสนอความคิดเรื่อง reflection-in-action and reflection-on-action ว่า reflection-in-action เป็นการพินิจดูประสบการณ์ เชื่อมโยงกับความรู้สึก และพิจารณาทฤษฎีที่ใช้ เป็นการสร้างความเข้าใจใหม่ๆ เพื่อหาความหมายของการกระทำของตนในสถานการณ์ที่กำลังอุบัติขึ้น ส่วน reflection-on-action เป็นการไตร่ตรองภายหลังจากประสบการณ์ เป็นการหาเหตุผลว่าทำไมเรากระทำเช่นนั้น อะไรเกิดขึ้นภายในกลุ่ม ฯลฯ เป็นการตั้งคำถาม และสร้างความคิดเกี่ยวการกระทำของเรา 

เดวิด คอล์บ สร้างโมเดล Learning Style Inventory โมเดลนี้สร้างจากอนุกรมต่อเนื่อง 2 อัน ได้แก่ 1. การทดลองปฏิบัติจริง - การสังเกตอย่างไตร่ตรอง (Active experimentation - Reflective observation) 2. การสรุปเป็นแนวคิดนามธรรม - การมีประสบการณ์รูปธรรม (Abstract conceptualization - Concrete experience) 

ผลลัพธ์ของโมเดลนี้คือประเภทผู้เรียน 4 ชนิด ได้แก่ 1. แบบเอกนัย converger (การทดลองปฏิบัติจริง/การสรุปเป็นแนวคิดนามธรรม) 2. แบบปรับตัว accommodator (การทดลองปฏิบัติจริง/การมีประสบการณ์รูปธรรม) 3. แบบซึมซับ assimilator (การสังเกตอย่างไตร่ตรอง/การสรุปเป็นแนวคิดนามธรรม) 4. แบบอเนกนัย diverger (การสังเกตอย่างไตร่ตรอง/การมีประสบการณ์รูปธรรม)

การศึกษาที่เน้นการไตร่ตรองในเอกสารพระศาสนจักร

เอกสารพระศาสนจักรเน้นย้ำความสำคัญอันขาดเสียมิได้ของการไตร่ตรอง

เยาวชนบางคนกำลังแสวงหาความเข้าใจในศาสนาของตนให้ลึกซึ้งยิ่งขึ้น เมื่อพวกเขาพยายามไตร่ตรองความหมายที่แท้จริงของชีวิตพวกเขาก็จะค้นพบคำตอบต่อคำถามของตนในพระวรสาร”                (RD 18)
รูปแบบการศึกษาต้องแปลออกมาเป็นวิธีการศึกษาที่ฝึกให้ใช้การไตร่ตรองและวิจารณญาณ สิ่งนี้ต้องใช้รูปแบบกลวิธีในการปลูกฝังในตัวบุคคลให้มีชีวิตภายในซึ่งเป็นพื้นที่เพื่อรับฟังเสียงพระเจ้า ขัดเกลาสำนึกของความศักดิ์สิทธิ์ และติดตามคุณค่าที่ตนเลือก” (CP 53)

โรงเรียนคาทอลิกมักจะใส่ใจประเด็นเกี่ยวกับวิธีการสอนต่างๆ ศาสตร์เกี่ยวกับการศึกษาต้องอิงอยู่กับปรัชญาและอุดมการณ์ที่แตกต่างหลากหลาย ในการนี้ เราจำเป็นจะต้องไตร่ตรอง วินิจฉัย และตัดสินใจเลือก” (RD 62)

2. การศึกษาแบบแปรสภาพ (Transformative Education)

การศึกษาแบบแปรสภาพคืออะไร

แจ๊ค เมซีโรว์ (1923 - 2014) นักการศึกษาคนสำคัญของวงการการศึกษาผู้ใหญ่ อธิบายว่าการเรียนรู้แบบแปรสภาพคือกระบวนการที่ใช้การแปลความหมายก่อนหน้า เพื่อสร้างการแปลความหมายใหม่ในการให้ความหมายกับประสบการณ์ของตน   ทั้งนี้โดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อใช้เป็นแนวทางสำหรับการ กระทำในอนาคต

การเรียนรู้มี 3 ประเภท ได้แก่ 
  1. Instrumental learning เป็นการเรียนรู้แบบเป็นเครื่องมือคือ การแสวงหาทักษะและความรู้ การทำชิ้นงานอย่างเชี่ยวชาญ การแก้ปัญหา การจัดการสภาพแวดล้อม 
  2. Communicative learning เป็นการเรียนรู้ที่ทำความเข้าใจความหมายสิ่งที่ผู้อื่นสื่อสารเกี่ยวกับ คุณค่า อุดมการณ์ ความรู้สึก การตัดสินใจทางศีลธรรม 3. 
  3. Transformative learning เป็นการแปรมุมมอง ปรับกระบวนทัศน์ โดยที่เราตรวจสอบการแปลความและสมมุติฐานก่อนหน้าอย่างพินิจพิเคราะห์ เพื่อสร้างความหมายใหม่

การเรียนรู้แบบแปรสภาพมี 3 ขั้น
  1. การไตร่ตรองสมมุติฐานของตนอย่างพินิจพิเคราะห์
  2. เสวนาทางปัญญา: การโต้แย้งเพื่อพิสูจน์ความเข้าใจเชิงพิเคราะห์
  3. การกระทำ

ในHow Critical Thinking Triggers Transformative Learningแจ๊ค เมซีโรว์ อธิบายว่าการไตร่ตรองมี 3 ประเภท ได้แก่
  1. การไตร่ตรองแบบบรรยาย (Descriptive) อธิบายสถานะการณ์ ปฏิกิริยาทั่วไป โดยมีความพยายามเพียงเล็กน้อยที่จะค้นพบสมมุติฐาน/ความเชื่อส่วนบุคคลเกี่ยวกับสถานะการณ์นั้นๆ
  2. การไตร่ตรองแบบวิเคราะห์ (Analytical) บูรณาการปฏิกิริยาที่มีความหมายต่อสถานะการณ์ โดยมีพื้นฐานบนสมมุติฐาน/ความเชื่อ ความรู้สึก มิติ/มุมมองทางเลือกต่างๆ
  3. การไตร่ตรองเชิงพิจารณ์ (Critical) ค้นหาเหตุฐานรากของความรู้ สมมุติฐาน/ความเชื่อ แสวงหาความหมายใหม่ และ ข้อเสนอแนะว่าประสบการณ์นั้นๆ สามารถส่งผลกระทบและให้แนวทางต่อการกระทำในอนาคตอย่างไร
มีเพียงการไตร่ตรองเชิงพิจารณ์เท่านั้นที่สามารถก่อเกิดการเรียนรู้แบบแปรสภาพได้

การศึกษาแบบแปรสภาพในวงการการศึกษาคาทอลิก

เอกสารเตรียมการประชุมสมัชชาการฟื้นฟูความกระตือรือร้นทางการศึกษาคาทอลิกขึ้นใหม่อธิบาย
ว่าการจัดการศึกษาจำต้องนำทางนักเรียนในการเผชิญกับความเป็นจริง เตรียมพวกเขาให้พร้อมที่จะเข้าสู่โลกด้วยความตระหนักรู้ และความรับผิดชอบ สิ่งนี้จะเกิดขึ้นได้นั้น จำเป็นที่นักเรียนต้องมีความรู้ อย่างไรก็ดี ผลลัพท์แท้จริงที่คาดหวัง มิได้อยู่ที่การมีข้อมูลหรือความรู้ แต่อยู่ที่การแปรสภาพของบุคคล

การศึกษาคือการแปรสภาพของบุคคล

การแปรสภาพบุคคลต้องเริ่มต้นจากตัวนักการศึกษาคาทอลิกเอง ผู้อบรมและครูจำต้องเจริญ เติบโต 
วิวัฒน์ และเปลี่ยนแปลงแปรสภาพตนเองตามคุณค่าพระวรสารเสียก่อน เราจึงจะสามารถสอน จัดการกระบวนการเรียนรู้ จัดกิจกรรม สร้างบรรยากาศการอบรม เพื่อท้าทายนักเรียนให้เจริญ เติบโต วิวัฒน์ และเปลี่ยนแปลงแปรสภาพตนเองตามคุณค่าพระวรสารเช่นเดียวกันกับเรา

การแปรสภาพสังคมอาศัยการศึกษา  

มารี ยูเจนี มิลเลเรท์ ผู้ซึ่งสมเด็จพระสันตะปาปาเบเนดิตที่ 16 ได้ทรงสถาปนาเป็นนักบุญในปี 2007 เป็นผู้ก่อตั้งคณะซิสเตอร์อัสสัมชัญ วิสัยทัศน์เชิงสารัตถะของท่านคือการแปรสภาพสังคมโดยอาศัยการศึกษาซึ่งสำหรับท่านหมายถึง การบริรูปหล่อหลอมเยาวชนในความรู้และความรักต่อพระเยซูเจ้า และการเติบโตในรูปแบบของพระองค์ ท่านเชื่อว่าสังคมสามารถถูกแปรสภาพได้ด้วยการทุ่มเทในการพัฒนาปัจเจกบุคคล โดยมีเป้าหมายที่จะสร้างความยุติธรรมและการปลดปล่อยในสังคม ดังนั้นการศึกษาจะต้องให้ความสำคัญต่อความสุภาพและความรักมากกว่าการฝึกฝนสติปัญญา ท่านตั้งโรงเรียนเพื่อสร้างสิ่งแวดล้อมเพื่อการพัฒนาปริบุคคล”  ปรัชญาการศึกษาของซิสเตอร์คณะอัสสัมชัญคือการศึกษาเป็นการบริรูปหล่อหลอมและการแปรสภาพนักเรียนในหลายระดับและหลายวิธีดังนั้น การจัดการศึกษาคือการแปรสภาพบุคคล แล้วการแปรสภาพปัจเจกบุคคลโดยตัวมันเองจะนำมาซึ่งการแปรสภาพสังคม

ชุมชนโรงเรียนคาทอลิกที่ได้รับการแปรสภาพ 

หากนักการศึกษาคาทอลิกจัดการศึกษาด้วยฉันทะอย่างแท้จริง ผลลัพธ์ที่ตามมาคือ บรรยากาศโรงเรียนคาทอลิกจะเป็นบรรยากาศแห่งความรักและความเป็นหนึ่ง แน่นอนว่า ในสภาพความเป็นจริงของชีวิตสังคมปัจจุบัน เราอยู่ในโลกแห่งการแข่งขัน การชิงดีชิงเด่น การแพ้คัดออก การขจัดทิ้ง การสร้างสังคมชายขอบ การแบ่งขั้ว การแบ่งชนชั้นแบบแยบยล การมุ่งผลเลิศเฉพาะตน การต่อสู้ การกดขี่ การเอารัดเอาเปรียบ แต่สิ่งเหล่านี้มิใช่หรือ ที่อยู่คนละขั้วกับคุณค่าพระวรสาร เราจัดการศึกษาเพื่อการแปรสภาพสังคมเช่นนี้มิใช่หรือ เราสร้างโรงเรียนของเราเพื่อสร้างสังคมที่เราคาดหวังมิใช่หรือ ดังนั้น สังคมที่เราสร้างภายในในโรงเรียนจำต้องสะท้อนภาพของสังคมที่เราคาดหวังในโลกด้วย

พระศาสนจักรคาทอลิกสอนครูในโรงเรียนคาทอลิกว่าการใช้ชีวิตปัจจุบันด้วยความใฝ่ใจรัก หมายถึงการที่เรานักการศึกษาคาทอลิกต้องกลับเป็นผู้ชำนาญการแห่งการรวมเป็นหนึ่งเป็นประจักษ์พยานและสถาปนิกแห่งแบบแปลนเพื่อความเป็นหนึ่งซึ่งเป็นมงกุฎแห่งประวัติศาสตร์มนุษยชาติในแผนการของพระเจ้า

ประเด็นนี้ ยังมีกล่าวไว้ในโรงเรียนคาทอลิกสู่สหัสวรรษที่สามข้อ 11 ว่าดังนั้น หัวใจของอัตลักษณ์โรงเรียนในฐานะที่เป็นสถาบันการสอน จึงอยู่ที่ธรรมชาติความเป็นชุมชนของโรงเรียนคาทอลิกนั่นเองและในการให้การศึกษาอบรมร่วมกันฯข้อ 16 ว่าในโรงเรียนคาทอลิก จิตวิถีแห่งการรวมเป็นหนึ่งจะต้องกลายเป็นลมหายใจที่มีชีวิตของชุมชนการศึกษา
การศึกษาคาทอลิกกับสังคมที่รอการแปรสภาพ

เอกสารเตรียมการประชุมสมัชชาฯ ยังกล่าวด้วยว่าการศึกษาคาทอลิกควรส่งเสริมการเสาวนา แม้ในขณะที่โรงเรียนและสถาบันการศึกษารู้สึกได้ถึงภาระหนักหน่วงของความยากจนทางจิตวิญญาน การขยายตัวของมุมมองทางคตินิยมที่เป็นภัย และความตกตำ่ในระดับทั่วไปของวัฒนธรรม ในด้านหนึ่ง เราต้องตอบสนองต่อความต้องการจำเป็นของเศรษฐกิจและของสังคม แต่ในอีกด้านหนึ่งเราต้องนำเสนอการบริรูปหล่อหลอมแบบองค์รวม โดยพัฒนาทักษะรอบด้านที่ส่งเสริมตัวมนุษย์: ทั้งจินตนาการ ความสามารถในการรับผิดชอบ ความสามารถในการที่จะรักโลก ความสามารถในการเสริมสร้างความยุติธรรมและเมตตาธรรม ความสามารถในการกำหนดเป้าหมายที่เปลี่ยนแปลงอนาคตได้ ภายในสังคมที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วนี้ การจัดการศึกษาแบบองค์รวมย่อมหมายถึงการไตร่ตรองอย่างต่อเนื่องถึงวิธีที่จะฟื้นฟูสังคม ทำให้สังคมมั่งคั่งในเชิงคุณภาพ ในเชิงความเป็นมนุษย์และเมตตาธรรม เป็นเรื่องน่าอันตรายที่จะมองการศึกษาในแง่ที่เป็นเพียงเครื่องมือรับใช้เศรษฐกิจการตลาด และตลาดแรงงานเท่านั้น แต่การศึกษาคาทอลิกจะต้องเป็นการศึกษาบูรณภาพ ที่มองนักเรียนในฐานะที่เป็นบุคคลเชิงบูรณภาพ และช่วยพวกเขาให้พัฒนาทักษะต่างๆ รอบด้าน ซึ่งเสริมสร้างความเป็นมนุษย์ อาทิ ทักษะการไตร่ตรอง ซึ่งทำให้เราเป็นผู้ที่รับผิดชอบต่อการกระทำและการตัดสินใจของตน ทักษะความเป็นพลเมือง ทักษะที่เกี่ยวเนื่องกับภาวะจิตหรือความตระหนักรู้ การคิดเชิงพิจารณ์ และการกระทำที่สร้างสรรค์และแปรสภาพ

การศึกษาที่เน้นการไตร่ตรองและแปรสภาพกับ constructivism

ในช่วงเปลี่ยนสหัสวรรษ นักการศึกษาเห็นชอบกับการนำเสนอแนวคิดของแอนเดอร์สันและแครทโฮล (2001) ในการเปลี่ยนอันดับทักษะการคิดตามทฤษฎีการเรียนรู้ของบลูม ทักษะการประเมินค่าถูกเลื่อนลำดับลงไป แทนที่โดยทักษะการสังเคราะห์ ซึ่งเปลี่ยนชื่อเป็นทักษะการสร้างสรรค์ (creating) อันมีความหมายว่าเป็นการรวมส่วนย่อยเพื่อสร้างใหม่ทั้งหมด ทักษะการสร้างสรรค์นี้เป็นแนวคิดจากทฤษฎีสร้างความรู้ใหม่โดยผู้เรียนเอง (constructivism) เพอร์กินได้อธิบายว่า constructivism คือการที่ผู้เรียนไม่ได้รับเอาข้อมูล และเก็บข้อมูลความรู้นั้นมาเป็นของตนทันที แต่จะแปลความหมายของข้อมูลความรู้เหล่านั้นโดยประสบการณ์ของตน เสริมขยาย และทดสอบการแปลความหมายของตนด้วย นอกจากนี้ ความสำคัญของ constructivism ยังปรากฎชัดจากงานวิจัยของ TDRI ที่พบว่า constructivism & connectivism เท่านั้นคือทางรอดของการศึกษาไทย  

แจ๊ค เมซีโรว์ อธิบายว่าทฤษฎีการเรียนรู้ที่แปรสภาพมีลักษณะเป็น  constructivism  ซึ่งเชื่อว่าวิธีที่ผู้
เรียนแปลความหมายประสบการณ์ และแปลความหมายประสบการณ์ของตนใหม่ เป็นวิธีที่สำคัญในการให้ความหมายใหม่ ซึ่งเป็นการเรียนรู้นั่นเอง”  ดังนั้นจึงมีความสัมพันธ์ระหว่าง create และ transform 

การเรียนรู้แบบคาทอลิกเป็นการเรียนรู้ที่เน้นการไตร่ตรอง เพราะการใช้ทักษะการคิดขั้นสูงขึ้นเพียงใด ก็ย่อมใช้การไตร่ตรองที่เข้มข้นขึ้นเพียงนั้น กล่าวได้ว่าการเรียนรู้แบบคาทอลิกย่อมส่งเสริมให้นักเรียนมีกระบวนการเรียนรู้ที่ใช้ทักษะการคิดขั้นสูงให้มาก และเมื่อนักเรียนใช้ทักษะการคิดขั้นสูงสุด: การสร้างสรร จึงเป็นห้วงเวลาที่นักเรียนจะเรียนรู้แบบแปรสภาพ การเรียนรู้แบบคาทอลิกจึงเน้นการไตร่ตรองเพื่อใช้ทักษะการคิดขั้นสูง จนกระทั่งถึงขั้น create-and-transform กล่าวโดยสรุป จากการวิเคราะห์ขอบฟ้าใหม่ของการจัดการศึกษาศตวรรษ 21 เห็นได้ว่าการศึกษาคาทอลิกควรมีลักษณะที่เป็น reflective-transformative learning ดังที่กล่าวข้างต้นนั่นเอง

3. การศึกษาฐานคุณค่า (Values-based Education)

ในการตื่นตัวของสังคมต่อการมาถึงของคลื่นลูกที่สาม คลื่นแห่งสาระสนเทศ ทำให้ผู้คนต่างเห็นดีเห็นงามกับการก้าวเข้าสู่สังคมขอบฟ้าใหม่ เป็นสังคมที่อาศัยความรู้เป็นตัวขับเคลื่อนการพัฒนาทางเศรษฐกิจและสังคม หรือที่เรียกว่าสังคมฐานความรู้อย่างไรก็ดี การจัดการศึกษามิอาจตั้งเป้าไปที่สังคมฐานความรู้เป็นจุดหมายปลายทางได้ 

ในวงการการศึกษาได้เกิดกลุ่มที่เรียกตนเองว่า Values-based Education นำโดย เนล ฮอร์คส์ ซึ่งวิจัยพบว่า การบูรณาการคุณค่าแก่นในหลักสูตรส่งผลกระทบเชิงบวกต่อชีวิตและงานของโรงเรียน และช่วยให้นักเรียนสำรวจและซึมซับคุณค่าต่างๆ มีโรงเรียนทั่วโลกที่ได้รับมาตรฐานแล้ว 150 โรง การแปรสภาพถือเป็นหัวใจของ VbE เป็นผลของการที่ครูและนักเรียนได้รับการกระตุ้นให้ทำการไตร่ตรองกิจกรรมที่ทำในโรงเรียนอย่างต่อเนื่อง มีการไตร่ตรองตนเอง เพื่อเห็นคุณค่าของตนเอง ของผู้อื่น และของสิ่งแวดล้อม (ดูคลิป)  

โรงเรียนคาทอลิกไม่เป็นเพียงที่ที่นักเรียนจะได้รับโอกาสในการได้รับคุณค่าทางสติปัญญาที่หลากหลายเท่านั้น แต่โรงเรียนยังต้องเป็นที่ที่นักเรียนจะได้รับการนำเสนอคุณค่าอื่นๆ อีกดาษดื่น เพื่อนำไปเจริญชีวิตจริงด้วย นอกจากนั้น โรงเรียนยังต้องเป็นชุมชนที่ถ่ายทอดคุณค่าในความสัมพันธ์ระหว่างบุคคลอีกด้วย” (CS 32)

การศึกษาคาทอลิกเช่นกันไม่อาจลดทอนตัวเองจนกลายเป็นเพียงการศึกษาฐานความรู้พระอัครสังฆราชไมเคิ้ล มิลเลอร์ กำชับว่าการศึกษาคาทอลิกจะต้องซึมซาบด้วยโลกทัศน์คริสต์ตลอดท้ังหลักสูตร และจะต้องเป็นประจักษ์พยานต่อพระวรสาร เอกสารพระศาสนจักรสำทับถึงการถ่ายทอดหลักการพระวรสารในโรงเรียนโรงเรียนคาทอลิกข้อ 34 กล่าวว่าพระคริสตเจ้าคือรากฐานของกิจกรรมทางการศึกษาทั้งปวงการที่สมาชิกทุกคนในชุมชนโรงเรียนมีวิสัยทัศน์แบบคริสต์นี้ร่วมกันทำให้โรงเรียนเป็นโรงเรียนคาทอลิก หลักการพระวรสารกลับเป็นบรรทัดฐานของการศึกษา เพราะโรงเรียนมีหลักการพระวรสารเป็นแรงบันดาลใจภายใน และเป็นเป้าหมายสุดท้าย” “โรงเรียนคาทอลิกสู่สหัสวรรษที่สามข้อ 4 กล่าวว่าโรงเรียนคาทอลิกพยายามที่จะเชื่อมโยงวัฒนธรรมมนุษย์กับพระ   วรสาร เช่นนี้แล้ว ความรู้ที่นักเรียนเรียนรู้เกี่ยวกับโลก ชีวิต และมนุษย์ จะได้รับการส่องสว่างจากความเชื่อ และนำพวกเขาไปสู่การเจริญชีวิตของผู้เผยแผ่ธรรมดังนั้นในโรงเรียนคาทอลิกซึ่งไม่มุ่งการศึกษาฐานความรู้ แม้จะมีหลักสูตรหลายร้อยรหัสวิชา แต่มีเพียง 3 เรื่องที่โรงเรียนคาทอลิกต้องสอน นั่นคือ โลกทัศน์ ชีวิตทัศน์ และมนุษยทัศน์ตามหลักการพระวรสาร สำหรับโรงเรียนคาทอลิก การศึกษาฐานคุณค่าคือการศึกษาฐานคุณค่าพระวรสาร

4. การศึกษามุ่งคุณธรรม (Virtues-oriented Education)

การศึกษาคาทอลิกคือการศึกษามุ่งคุณธรรม

การบริรูปหล่อหลอมนักเรียนต้องไม่หยุดอยู่ที่เพียงการช่วยให้พวกเขายอบรับคุณค่าที่ดีเท่านั้นมิติทางศาสนาฯกล่าวว่าผู้อบรมที่แท้ทุกคนย่อมรู้ว่าจำเป็นต้องก้าวต่อไปอีกขั้นหนึ่ง: คุณค่าต้องนำไปสู่การปฏิบัติ” (RD 107) แนวคิดในการปลูกฝังคุณธรรมในการจัดการศึกษาคือ คุณค่าคือความรู้ที่ถูกไตร่ตรอง คุณธรรมคือคุณค่าที่ถูกปฏิบัติ (CS 32)

มารีเค คริสตีนา ในงานวิจัย Mind and Virtue A Cross-Cultural Analysis of Beliefs about Learning (2011) ได้ศึกษาเกี่ยวกับ การเรียนรู้ที่มุ่งปัญญา (mind-orientated Learning) กับการเรียนรู้ที่มุ่งคุณธรรม (virtue-orientated Learning)  ซึ่งนำเสนอโดย เจ ลี (2005) พบว่านักเรียนตะวันตกมีการเรียนรู้ที่มุ่งปัญญา ส่วนนักเรียนตะวันออกมีการเรียนรู้ที่มุ่งคุณธรรม การเรียนรู้ที่มุ่งปัญญามีความเชื่อว่าการเรียนรู้คือการออกแรงพยายามทางความคิด โดยหลักแล้วการเรียนรู้เป็นกระบวนการพัฒนาทักษะการคิด ส่วนในการเรียนรู้ที่มุ่งคุณธรรมนั้น การเรียนรู้เป็นการพัฒนาตัวบุคคลแบบเป็นองค์รวม ซึ่งครอบคลุมทั้งด้านคุณธรรมและสังคมด้วย   ผู้เรียนมีความเชื่อต่อการเรียนรู้ที่แตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญ ความเชื่อเหล่านี้ถูกบูรณาการอย่างมีความหมาย กลายเป็นกรอบแนวคิดของการเรียนรู้ที่มุ่งปัญญาและการเรียนรู้ที่มุ่งคุณธรรม

พระอัครสังฆราชฌาปุต แห่งสังฆมณฑลฟิลลาเดลเฟียเมื่อปลายปี 2014 ได้ออกสารEquipping Saints: A Pastoral Letter on Catholic Education and Faith Formationเน้นย้ำว่าการศึกษาคาทอลิกคือการติดอาวุธให้กับนักบุญสำหรับชีวิตบนโลกนี้และโลกหน้าครูในโรงเรียนคาทอลิกจะต้องทุ่มเทให้กับการบริรูปหล่อหลอมคุณธรรมคริสต์การศึกษาคาทอลิกไม่ใช่เรื่องของ  ‘ประโยชน์ทางสังคมไม่ใช่เรื่องของคุณค่าที่ดี ภาษาคุณค่าของสังคมศาสตร์เบาบางเกินกว่าที่จะทำให้วิญญานมนุษย์อิ่มเอิบได้ และปวกเปียกเกินไปสำหรับบุคคลิกที่พระเจ้าผู้กล้าทรงประสงค์ให้เราเป็น การศึกษาคาทอลิกคือเรื่องการสร้างนักบุญ เรื่องของการเติบใหญ่ของเมล็ดพันธ์แห่งคุณธรรมและสัจธรรม อะไรที่ด้อยกว่านี้เท่ากับไม่ซื่อต่อศักดิ์ศรีของนักเรียนของเรา

พันธกิจเฉพาะของโรงเรียนคาทอลิกคือพันธกิจอันสำคัญยิ่งยวดของการถ่ายทอดวัฒนธรรมในแสงสว่างแห่งความเชื่อ จนบรรลุถึงคุณธรรมคริสต์ อันเป็นการบูรณาการวัฒนธรรม ความเชื่อ และชีวิต กระบวนการถ่ายทอดนี้ต้องทำอย่างเป็นระบบ” (CS 49)

การศึกษามุ่งคุณธรรมของนักบุญโทมัส

ดังที่กล่าวแต่ต้นว่า นักบุญโทมัสมองจุดมุ่งหมายของการศึกษาคาทอลิกเป็นการบริรูปหล่อหลอมมนุษย์ใหม่ จนกระทั่งเขาเปี่ยมด้วยคุณธรรม เราจะพยายามทำความเข้าใจเกี่ยวกับคุณธรรมในความคิดของนักบุญโทมัส เพื่อช่วยให้เราจัดการศึกษามุ่งคุณธรรมอย่างมีประสิทธิผล

คริสโตเฟอร์ บราวน์ สรุปว่างานเขียนเกี่ยวกับทฤษฎีจริยศาสตร์ของนักบุญโทมัสมีคุณธรรมเป็นศูนย์กลาง (virtue-centered) โดยอรรถาธิบายเกี่ยวเนื่องกับความสุขและสมรรถนะของอำเภอใจ (will) ที่แสวงหาชีวิตที่มีศีลธรรม

เป้าหมายปลายทางชีวิตมนุษย์: ความสุข

นักบุญโทมัสเห็นเป็นเรื่องประจักษ์ชัดว่า  ที่จริงแล้ว  มนุษย์มีจุดหมายสุดท้ายเพียงประการเดียว   เหตุเพราะว่า จุดหมายสุดท้ายย่อมเป็นอะไรบางอย่างที่มากกว่าแค่สิ่งที่เราแสวงหาในตัวมันเอง มันเป็นสิ่งที่ในตัวมันเองต้องสามารถเติมเต็มความปรารถนาของมนุษย์ได้อย่างครบถ้วน จุดหมายสุดท้ายเพียงประการเดียวนี้คือ ความสุข

เมื่อพูดถึงความสุขที่มนุษย์มีในชีวิตนี้ ซึ่งนักบุญโทมัสเรียกว่าความสุขที่ไม่สมบูรณ์ของมนุษย์มันย่อมต่างจากความสุขที่พระเจ้า เทวทูต และบรรดานักบุญมี  ซึ่งนักบุญโทมัสเรียกว่า  “บรมสุขทัศน์.                     (Beatific Vision) ความสุขเช่นนี้เป็นความสุขที่สมบูรณ์ ดังนั้นความสุขของมนุษย์ในสวรรค์เท่านั้นจึงถือเป็นความสุขที่สมบูรณ์

การกระทำที่เปี่ยมคุณธรรมเป็นหนทางไปสู่ความสุข

เช่นเดียวกับพระเยซูเจ้าผู้ตรัสสอนว่าท่านจงเป็นคนดีอย่างสมบูรณ์ ดังที่พระบิดาเจ้าสวรรค์ของท่าน ทรงความดีอย่างสมบูรณ์เถิด” (มธ. 5:48) นักบุญโทมัสเห็นว่าความสุขของมนุษย์เกิดขึ้นได้อย่างสมบูรณ์ ไม่ใช่ด้วยการกระทำที่ดี (good human actions) แต่ด้วยการกระทำที่เปี่ยมคุณธรรม (virtuous human actions) การกระทำที่ดีเป็นจุดเริ่มต้นที่จะนำไปสู่ความสุขของผู้กระทำ การกระทำที่เปี่ยมคุณธรรมทำให้ความสุขของผู้กระทำสมบูรณ์

คุณธรรมชนิดต่างๆ

นักบุญโทมัสจำแนกคุณธรรมออกเป็น คุณธรรมเชิงเทววิทยา (theological virtue) คุณธรรมเชิงสติปัญญา (intellectual virtue) คุณธรรมเชิงศีลธรรม (moral virtue) และคุณธรรมหลัก (cardinal virtue)

คุณธรรมเชิงเทววิทยา ได้แก่ ความเชื่อ ความหวัง และความรัก

คุณธรรมเชิงสติปัญญาแบบทฤษฎีได้แก่ความเข้าใจ วิทยาศาสตร์ ปรีชาญาณ คุณธรรมเชิงสติปัญญาแบบปฏิบัติได้แก่ศิลปะ ความรอบคอบ คุณธรรมเหล่านี้ทำให้สติปัญญาครบครัน นำไปสู่การทำสิ่งต่างๆอย่างเหมาะสม ทำให้ผู้ทำมีประสิทธิผล

คุณธรรมเชิงศีลธรรมเป็นคุณธรรมที่ทำให้อำเภอใจครบครัน คุณธรรมชนิดนี้นำไปสู่การใช้อุปนิสัยอย่างถูกต้องโดยอัตโนมัติ ทำให้ผู้ทำเป็นคนดี

ส่วนคุณธรรมหลัก ได้แก่ ความกล้าหาญ ความพอควร ความยุติธรรม และความรอบคอบ คุณธรรมเหล่านี้ส่งผลต่อกันจนไม่อาจมีคุณธรรมหลักประการใดประการหนึ่งโดยปราศจากคุณธรรมหลักอื่นๆ ทั้งหมด หนังสือปรีชาญาณบทที่ 8 กล่าวถึงคุณธรรมหลักว่าถ้าผู้ใดรักความชอบธรรมก็รู้ว่าคุณธรรมต่างๆ เป็นผลของปรีชาญาณ ปรีชาญาณสอนความรู้ประมาณและความรอบคอบ สอนความยุติธรรมและความกล้าหาญ

คุณค่าพระวรสาร 30 ประการที่นำเสนอครอบคลุมคุณธรรมเชิงเทววิทยากับคุณธรรมหลักทั้งหมด และครอบคลุมคุณธรรมเชิงสติปัญญากับคุณธรรมเชิงศีลธรรมบางประการ คุณธรรมเชิงเทววิทยาได้แก่ข้อ 1 ความเชื่อ, ข้อ 11 ความรัก, และข้อ 21 ความหวัง คุณธรรมหลักได้แก่ข้อ 4 ความกล้าหาญ, ความรอบคอบ (วิจารณญาณ), ข้อ 10 ความพอควร (ความพอเพียง), และข้อ 16 ความยุติธรรม

การศึกษา Head Heart Hands

ในหนังสืออัตชีวประวัติของรูเมอร์ ก๊อดเด็นบ้านสี่ห้องเธอเขียนว่ามีภาษิตอินเดียที่สอนว่า คนทุกคนคือบ้านที่มีสี่ห้อง กาย สติปัญญา จิตใจ จิตวิญญาณ พวกเราส่วนใหญ่มักจะใช้เวลาส่วนใหญ่อยู่ในห้องๆ เดียว แต่ทว่า หากเราไม่เข้าไปในห้องทุกห้อง ทุกวัน เราก็เป็นคนไม่ครบคน

เมื่อทรงถูกถาม อะไรคือบัญญัติเอก? พระเยซูตรัสตอบว่าท่านจะต้องรักองค์พระผู้เป็นเจ้า พระเจ้าของท่านสุดวิญญาณ สุดจิตใจ สุดสติปัญญาของท่าน” (มธ 22: 37)

คำประกาศของสภาสังคายนาฯ เรื่องการศึกษาแบบคริสต์ข้อ 1 กล่าวว่าการศึกษาที่แท้จริงมีเป้าหมายอยู่ที่การบริรูปหล่อหลอมตัวบุคคลมนุษย์เพื่อบรรลุถึงจุดหมายปลายทางสุดท้ายของตน อีกทั้งเพื่อความดีของสังคม” 

แล้วจุดหมายปลายทางสุดท้ายของมนุษย์คืออะไร? คำสอนบัลติมอร์ตอบคำถามนี้ว่าจุดหมายปลายทางของมนุษย์คือเป้าหมายที่มนุษย์ถูกสร้างขึ้น กล่าวคือ เพื่อรู้จัก รัก และรับใช้พระเจ้า แล้วจะได้เป็นสุขกับพระองค์ตลอดนิรันดรในสวรรค์


ขอสรุปด้วยคำสอนของนักบุญโทมัสมีสามสิ่งที่จำเป็นต่อความรอดพ้นของวิญญาณ: รู้ว่าตนควรเชื่ออะไร (Head) รู้ว่าตนควรปรารถนาอะไร (Heart) รู้ว่าตนควรทำอะไร (Hands)” การศึกษาคาทอลิกจึงควรเป็นการศึกษา head-heart-hands ที่นำพานักเรียนไปถึง da-mini-animas “ขอเพียงจิตวิญญาณของนักบุญยอห์น บอสโก ผู้ซึ่งสมเด็จพระสันตะปาปา ปีโอที่ 11 ในปี 1934 ทรงสถาปนาขึ้นเป็นบิดาและอาจารย์ของเยาวชนบิดาและอาจารย์ของนักเรียนทุกคนในโรงเรียนคาทอลิก 

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น