คุณค่าพระวรสาร (Gospel Values)
คุณค่าพระวรสาร คือคุณค่าที่พระเยซูสั่งสอนและเจริญชีวิตเป็นแบบอย่างแก่บรรดาสานุศิษย์และประชาชน ดังที่มีบันทึกในพระคัมภีร์ ตอนที่มีชื่อเรียกว่า “พระวรสาร” ซึ่งแปลว่าข่าวดี คำว่า “ข่าวดี” หมายถึงข่าวดีแห่งความรอดพ้นของมนุษย์จากทุกข์ (อสย 61:1) (ลก 4:16-18) (อสย 35:4-6) (ลก 7:22) และข่าวดีแห่งความรักของพระเจ้าผู้รักมนุษย์จนกระทั่งประทานพระบุตรของ พระองค์มาบังเกิดเป็นมนุษย์เพื่อไขแสดงพระองค์ และแสดงพระธรรมแก่มนุษย์ และทำการกอบกู้มนุษย์ให้พ้นจากทุกข์ด้วยอัศจรรย์ต่างๆ พระเยซูทรงสิ้นพระชนม์บนไม้กางเขนเพื่อไถ่กู้มนุษย์ให้รอดพ้นจากบาป และทรงกลับคืนพระชนมชีพเพื่อบันดาลให้มนุษย์ได้รับชีวิตนิรันดร (ยน 3:16)
1. ความเชื่อ (faith)
ความเชื่อหมายถึง ความเชื่อศรัทธาในพระเจ้า (มก 11:22) ความเชื่อในความเป็นจริงที่อยู่เหนือสิ่งที่เราจับต้องมองเห็น ความเชื่อในความเป็นจริงของจิตวิญญาณ และในมิติทางศาสนาของชีวิต พระเยซูสอนว่า หากเรามีความเชื่อศรัธทา อัศจรรย์จะเกิดขึ้นในชีวิตของเรา (ลก 17:19) (มธ 11:23) หากเรามีความเชื่อศรัธทา เราจะได้รับความรอดพ้นจากบาป (มก 2:5) และทุกข์ (ลก 7:50) เราต้องมีความเชื่อศรัธทาเมื่อเราภาวนา (มก 11:24) และเมื่อเราอยู่ในวิกฤต (มก 4:39-40) ความเชื่อศรัทธาเป็นพื้นฐานของคุณค่าพระวรสารอื่นๆทั้งหมด
2. ความจริง (truth)
พระเยซูตรัสว่าพระองค์คือ “หนทาง ความจริง และชีวิต” (ยน 14:6) ชีวิตของเราเป็นการแสวงหาความจริง ความจริงของโลก ของชีวิต และของมนุษย์ พระองค์สอนเราว่า ความจริงทำให้เราเป็นไท (ยน 8:32) บุคคลที่ไม่ซื่อตรงคือบุตรแห่งปีศาจผู้มีแต่ความเท็จ (ยน 8:44)
3. การไตร่ตรอง / ภาวนา (reflection / prayer)
พระเยซูสอนให้เราไตร่ตรองอยู่เสมอ พระองค์สอนให้เรารู้คุณค่าของความสงบ (ลก 4:42) และการไตร่ตรอง เพื่อหาความหมายที่ลึกซึ้งของปรากฎการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นในชีวิต (ลก 12:27; 2:51) การไตร่ตรองนำไปสู่การเข้าใจ (มธ 13:23) ยอมรับ และปฏิบัติคุณค่าจนเกิดผลมากมาย (มก 4:20) พระเยซูภาวนาอยู่เสมอ (ลก 6:12; 22:39) พระองค์ภาวนาเป็นพิเศษ เมื่อประกอบภารกิจสำคัญ (ลก 5:16) เมื่อมีการประจญ (มธ 4:1) (ลก 22:46) และเมื่อมีวิกฤติของชีวิต (มธ 26:36) พระองค์สอนเราให้ภาวนาอยู่เสมอ (ลก 18:1-7)
4. มโนธรรม / วิจารณญาณ / ความกล้าหาญเชิงศีลธรรม (conscience / discernment / moral courage)
พระเยซูสอนให้เรามีความกล้าหาญเด็ดเดี่ยวในการรักษาศีลธรรม (มธ 5:30; 18:8) มีมโนธรรมเที่ยงตรง วิจารณญาณแยกแยะชั่วดี รู้จักตัดสินใจเลือกทางแห่งความดีงาม และยีดมั่นในทางแห่งความดี (ลก 18:8) แม้ในสถานการณ์ที่เราถูกคุกคาม (มธ 5:10; 24:10,12-13)
5. อิสรภาพ (freedom)
พระเยซูสอนว่า “ความจริงทำให้เราเป็นอิสระ” (ยน 8:32) ซึ่งหมายถึงความเป็นอิสระจากการเป็นทาสของบาป เราปฏิบัติหน้าที่ของเราด้วยความเชื่อมั่น ด้วยความรัก มิใช่ด้วยความกลัว (ยน 14: 27) (ลก 5:10)
6. ความยินดี (joy)
ความยินดีเป็นผลของประสพการณ์การสัมผัสความรักของพระเจ้า (ยน 16:22) พระเยซูสอนให้เรามีใจเบิกบานอยู่เสมอ เพราะชื่อของเราถูกจารึกไว้ในสวรรค์แล้ว (ลก 10:20) ไม่มีสิ่งใดทำให้เราหวั่นไหว หรือหวาดกลัว (ยน 14:1) เพราะพระเจ้ารักเรา (ลก 12:7) (ยน 17:13)
7. ความเคารพ / ศักดิ์ศรี (respect / dignity)
มนุษย์ถูกสร้างตามพระฉายาลักษณ์ของพระเจ้า มนุษย์เป็นลูกของพระเจ้า (ลก 20:36) ดังนั้น ชีวิต
มนุษย์์จึงมีความศักดิ์สิทธิ์ พระเยซูสอนให้เราเคารพศักดิ์ศรีของตนเอง และของกันและกัน เราแต่ละคนมีค่ามากในสายพระเนตรของพระเจ้า (มธ 10:29-31; 18:10)
8. ความสุภาพถ่อมตน (humility)
พระเยซูเชื้อเชิญให้เราเลียนแบบพระองค์ "เรียนจากเราเพราะเรามีใจอ่อนโยน และสุภาพ" (มธ 11: 29) คำสอนหลักที่พระเยซูเน้นย้ำบ่อยครั้งคือ ผู้ใดถ่อมตัวลง ผู้นั้นจะได้รับการยกย่องให้สูงขึ้น (ลก 14: 11) ผู้ใดมีใจสุภาพอ่อนโยนผู้นั้นย่อมเป็นสุข (มธ 5: 5) ผู้ใดมีใจสุภาพเหมือนเด็กเล็ก ๆ ผู้นั้นจะเป็นผู้ยิ่งใหญ่ที่สุดในพระอาณาจักรสวรรค์ (มธ 18: 4)
9. ความซื่อตรง (honesty)
พระเยซูคาดหวังให้เราเป็น“มนุษย์ใหม่” (ยน 1:13) มนุษย์ที่ซื่อตรง (มธ 5:37) ชอบธรรม (ยน 1:47) ประพฤติชอบในสายพระเนตรของพระเจ้า (ลก 16:15) ดำรงตนอยู่ในศีลธรรม ไม่หน้าซื่อใจคด (มธ 23:13-15) ไม่คดโกงหรือเบียดเบียนผู้อื่น (มธ 15:8; 23:13-15) ผู้ซื่อตรงต้องเริ่มจากการซื่อสัตย์ในสิ่งเล็กน้อย (ลก 16:10) ผู้ซื่อตรงจะเกิดผลมากมาย (ลก 8:15)
10. ความเรียบง่าย / ความพอเพียง (simplicity / sufficiency)
พระเยซูเจริญชีวิตที่เรียบง่าย คลุกคลีกับประชาชนคนสามัญ ทุกคนเข้าหาพระองค์ได้แม้แต่เด็กๆ (ลก 18:16) พระองค์สอนเรามิให้กังวลใจในเครื่องแต่งกาย ในอาหารการกิน เพราะพระเจ้าดูแลชีวิตของเราทุกคน (ลก 12:24-27) (มธ 6:32) สุนัขจิ้งจอกยังมีโพรง และนกในอากาศยังมีรัง แต่พระองค์ไม่มีที่ที่จะวางศีรษะ (มธ 8:20)
11. ความรัก (love)
พระเยซูสอนให้เรามีความรักแท้ ความรักที่สูงส่งกว่าความรักใคร่ ความรักที่ไม่เห็นแก่ตัว ไม่หวังสิ่งตอบแทน ความรักที่มอบแก่ทุกคน ความรักที่เอาชนะอารมณ์ความรู้สึกของตน จนกระทั่งสามารถรักแม้แต่คนที่เป็นอริกับเรา (มธ 5:43-45) หลักปฏิบัติพื้นฐานของการแสดงความรักคือ “ปฏิบัติต่อผู้อื่นดังที่เราอยากให้ผู้อื่นปฏิบัติต่อเรา” (มธ 22:39) หลักปฏิบัติขั้นสูงของการแสดงความรักคือ “รักกันและกันเหมือนที่พระเจ้าทรงรักเรา” (ยน 15:12) ความรักเป็นคุณค่าที่สำคัญที่สุด เป็นจุดมุ่งหมายของคุณค่าพระวรสารอื่นๆทั้งหมด
12. เมตตา (compassion)
พระเยซูเจริญชีวิตที่เป็นแบบอย่างของความเมตตา พระองค์เมตตาต่อทุกคน คนเจ็บป่วย (มธ 20: 34) คนตกทุกข์ได้ยาก (ลก 7:13) และคนด้อยโอกาส (มธ 9:36) พระองค์ร่วมทุกข์กับคนที่มีความทุกข์ เข้าถึงความรู้สึกและความต้องการของผู้อื่น (ยน.11:33) พระองค์สอนเราให้รู้จักพระเจ้าผู้เป็นพระบิดาผู้เมตตา (ลก 15:20) และสอนให้เราเป็นผู้เมตตา เหมือนพระบิดาทรงเป็นผู้เมตตา (ลก 6:36) พระองค์เล่านิทานเปรียบเทียบที่น่าฟังเรื่องชาวสะมาเรียผู้ใจเมตตา (ลก 10:33)
13. ความกตัญญูรู้คุณ (gratitude)
พระเยซูตรัสชมเชยผู้ที่ได้รับการรักษาจากโรคภัย ที่กลับมาขอบคุณพระองค์ (ลก 17:16-17) พระเยซูขอบคุณพระเจ้าในทุกขณะ (มธ 15:36) (ลก 22:19) (ยน 11:41) พระองค์สอนให้เรารู้จักกตัญญูรู้คุณต่อพระเจ้า และต่อทุกคนที่มีบุญคุณต่อเรา (ลก 2:51)
14. การงาน / หน้าที่ (work / duty)
พระเยซูสอนให้เราเห็นคุณค่าของการทำงาน ผู้ที่ทำงานก็สมควรได้รับค่าตอบแทน (ลก 10: 7) พระองค์จะประทานรางวัลแก่ทุกคนตามการทำงานของแต่ละคน (มท 16: 27) พระองค์ทำงานอยู่เสมอเหมือนพระบิดาทำงานอยู่เสมอ (ยน 5: 17) พระองค์ยังสอนว่าการทำงานเป็นการถวายเกียรติแด่พระเจ้า (มธ 5:16) (ยน 15:8; 17: 4) เราพึงระลึกอยู่เสมอว่า เราต้องทำงานเพื่ออาหารที่คงอยู่เป็นชีวิตนิรันดร์ (ยน 6: 27) "จงทำงานหนักเพื่อเข้าประตูแคบสู่พระราชัยสวรรค์" (ลก 13 : 24)
15. การรับใช้ (service)
พระเยซูเสด็จมาในโลกเพื่อมารับใช้ มิใช่มาเพื่อได้รับการรับใช้ พระองค์สอนสานุศิษย์ว่าพระองค์ผู้เป็นพระเจ้ายังรับใช้พวกเขา (ยน 13:14) ดังนั้นพวกเขาต้องรับใช้ผู้อื่นเช่นเดียวกัน ผู้ใหญ่กว่าจะต้องรับใช้ผู้น้อยกว่า (ลก 22:26)
16. ความยุติธรรม (justice)
พระเยซูสอนให้เราแสวงหาความยุติธรรมให้กับผู้อื่นก่อนให้กับตนเอง (ยน 8:7) ความยุติธรรมเรียกร้องให้เราเปิดใจกว้างต่อความต้องการของผู้อื่น (ลก 18:3) โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ที่ด้อยกว่าเรา (ลก 16:19-21)
17. สันติ / การคืนดี (peace / reconciliation)
พระเยซูตรัสว่า พระองค์มอบสันติของพระองค์แก่เรา (ยน 14:27) สันติเป็นผลมาจากความยุติธรรม เราสามารถนำสันติสู่สังคมที่เราอยู่โดยมีความสัมพันธ์ที่ดีต่อกันและกัน (ลก 10:6) (มธ 5:9) มีใจที่ปล่อยวาง หลุดพ้นจากความว้าวุ่นใจ หลีกเลี่ยงความรุนแรงทุกชนิด และเมื่อมีความขัดแย้ง เราต้องพร้อมที่จะคืนดีเสมอ (มธ 5:24) การคืนดีเป็นผลจากการเคารพซึ่งกันและกัน และใจเปิดต่อการเสวนา
18. อภัย (forgiveness)
พระเยซูสอนศิษย์ให้ภาวนาต่อพระบิดาเสมอๆว่า “โปรดอภัยแก่ข้าพเจ้า เหมือนที่ข้าพเจ้าอภัยให้ผู้อื่นที่ทำผิดต่อข้าพเจ้า" (ลก 11:3-4) พระเยซูเล่านิทานของบิดาผู้ใจดีที่ให้อภัยแก่ลูกที่ล้างผลาญทรัพย์สมบัติของบิดา (ลก 15:11-24) พระเยซูให้อภัยแก่ผู้ที่ตรึงพระองค์บนกางเขน (ลก 23:34) การรู้จักให้อภัยผู้อื่นเกิดขึ้นได้เมื่อเรารู้จักเอาชนะความโกรธเคือง ความอาฆาตมาดร้ายทุกชนิด (มธ 5: 22) การให้อภัยของเราต้องไม่มีขอบเขตเหมือนที่พระเจ้าให้อภัยแก่เราอย่างไม่มีขอบเขต (ลก 17:4)
19. ความเป็นหนึ่ง / ความเป็นชุมชน (unity / community)
พระเยซูสอนว่า มนุษย์ทุกคนเป็นพี่น้องกัน ทุกคนมีพระเจ้าเป็นพระบิดาองค์เดียวกัน (มธ 6:9) (ยน 10:30) ดังนั้นมนุษย์จึงต้องสร้างสังคมมนุษย์ให้น่าอยู่ มีความเป็นพี่เป็นน้องกัน (มก 3:35) มีสายใยยึดเหนี่ยวกันอย่างมั่นคง (ยน 15:12) ไม่ว่าเราจะอยู่ในหน่วยใดของสังคม ทั้งบ้าน โรงเรียน และ
ท้องถิ่น เราต้องแสดงความเป็นเจ้าของ และการมีส่วนร่วมในชีวิตของชุมชนนั้นๆ (ยน 13:35)
20. ความมหัศจรรย์ใจ / รักษ์ธรรมชาติ (wonder /conservation)
พระเยซูสอนให้เรามองดูความสวยงามของธรรมชาติ ดวงดาวบนท้องฟ้า (ลก 10:20) นกที่บินในอากาศ (ลก 12:24) ดอกไม้ในทุ่งหญ้า (ลก 12:27) แล้วมองเห็นความยิ่งใหญ่ของพระผู้สร้างธรรมชาติ มองเห็นความน่าพิศวงของธรรมชาติ ที่ถูกสร้างมาเพื่อให้มนุษย์เอาใจใส่ดูแล (มธ 11:27) เราจึงต้องหวงแหนธรรมชาติ อนุรักษ์สิ่งแวดล้อม พิทักษ์โลกของเราให้อนุชนรุ่นหลัง
21. ความหวัง (hope)
ความหวังมีพื้นฐานอยู่บนคำสัญญาของพระเยซูว่า พระองค์มาเพื่อกอบกู้มนุษย์ทุกคนให้ได้ความรอดพ้นจากบาป และมีชีวิตนิรันดร์ (ยน 3:15; 6:40) ความหวังทำให้เรามีความอดทน พากเพียร และมั่นคงในความดี ความหวังยังทำให้เราคิดบวก มองโลกในแง่ดี เราหวังในพระเจ้ามิใช่ในวัตถุ (ลก 6:35) (มธ 12:21) ความหวังเป็นแรงบันดาลใจให้เรายึดมั่นในคุณค่าพระวรสารอื่นฯทั้งหมด
คุณค่าที่ 1 ความเชื่อเป็นพื้นฐานของทุกคุณค่า
คุณค่าที่ 2-9 คุณค่าที่เป็นหน้าที่ต่อพระเจ้าและต่อตนเอง
คุณค่าที่ 11 ความรักเป็นจุดมุ่งหมายของทุกคุณค่า
คุณค่าที่ 12-20 คุณค่าที่เป็นหน้าที่ต่อผู้อื่นและต่อสิ่งสร้าง
คุณค่าที่ 21 ความหวังเป็นความมั่นคงของทุกคุณค่า
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น