วันพุธที่ 16 สิงหาคม พ.ศ. 2560

การปรับปรุงพัฒนาแผนการจัดการเรียนรู้ที่บูรณาการคุณค่าพระวรสาร

โครงการปรับปรุงแผนการจัดการเรียนรู้ที่บูรณาการคุณค่าพระวรสาร

จุดประสงค์

เพื่อพัฒนาปรับปรุงโครงสร้างหลักสูตรและแผนการจัดการเรียนรู้ 5 กลุ่มสาระ ให้บูรณาการคุณค่าพระวรสารได้อย่างมีประสิทธิผลเพิ่มขึ้น

บุคคลเป้าหมาย

1. หัวหน้าฝ่ายวิชาการ
2. ครูผู้สอนระดับช่วงชั้นที่ 1,2, 3 กลุ่มสาระ (1)วิทยาศาสตร์ (2)คณิตศาสตร์ (3)ภาษาอังกฤษ (4)ภาษาไทย (5)สังคมศึกษา (ภูมิ-ประวัติศาสตร์)

การปรับปรุงโครงสร้างหลักสูตรที่บูรณาการคุณค่าพระวรสาร

โครงสร้างหลักสูตรที่บูรณาการคุณค่าพระวรสาร หมายถึงโครงสร้างหลักสูตรที่มีการวิเคราะห์ว่าสาระสำคัญของหลักสูตรเรื่องใดสามารถบูรณาการคุณค่าพระวรสารประการใดในจำนวน 30 ประการ ได้อย่างเหมาะสม

การปรับปรุงโครงสร้างหลักสูตรที่บูรณาการคุณค่าพระวรสาร จึงหมายถึงการวิเคราะห์ ทบทวนว่า สาระสำคัญของหลักสูตรเรื่องใดที่ครูได้ค้นพบและกำหนดคุณค่าพระวรสารที่นำมาบูรณาการนั้น มีความเหมาะสมมากน้อยเพียงใด และปรับปรุงให้เหมาะสมยิ่งขึ้น  มีสาระสำคัญของหลักสูตรเรื่องใดที่ครูยังไม่ได้ค้นพบและกำหนดคุณค่าพระวรสาร แต่มีความเหมาะสมที่จะบูรณาการคุณค่าพระวรสารประการใด

การปรับปรุงแผนการจัดการเรียนรู้ที่บูรณาการคุณค่าพระวรสาร

แผนการจัดการเรียนรู้ที่บูรณาการคุณค่าพระวรสาร หมายถึงแผนการจัดการเรียนรู้ที่ถูกออกแบบเพื่อให้ไม่เพียงถ่ายทอดความรู้เท่านั้น แต่ถ่ายทอดคุณค่าและแรงบันดาลใจให้นำไปปฏิบัติในชีวิตจริง แผนการจัดการเรียนรู้ที่ถ่ายทอดคุณค่าและแรงบันดาลใจให้นำไปปฏิบัติควรใช้หลักการต่าง ๆ ที่มีประสิทธิผล ได้แก่ หลักการการไตร่ตรอง (Reflection) หลักการ Induction หลักการ Constructionism หลักการการนำสู่ภาคปฏิบัติ (Head Heart Hand) และหลักการการเรียนรู้แบบร่วมทำงาน (Co-operative Learning) นอกจากการช่วยสร้างทักษะการคิดขั้นตำ่ ได้แก่ การจำ การเข้าใจ และการประยุกต์แล้ว หลักการเหล่านี้ยังเอื้อให้เกิดทักษะการคิดขั้นสูงอีกด้วย อันได้แก่ การวิเคราะห์ การประเมินค่า และการสร้างสรรค์ (การสังเคราะห์)

การปรับปรุงแผนการสอนที่บูรณาการคุณค่าพระวรสาร จึงหมายถึงการวิเคราะห์ว่า แผนการสอนที่ครูได้ค้นพบวิธีบูรณาการคุณค่าพระวรสารนั้น มีการใช้หลักการที่เหมาะสมมากน้อยเพียงใด สามารถถ่ายทอดทักษะการคิดขั้นสูงหรือไม่? สามารถถ่ายทอดคุณค่าพระวรสารหรือไม่? และปรับปรุงแก้ไขให้เหมาะสมยิ่งขึ้น

ลักษณะการบูรณาการคุณค่าพระวรสาร

การบูรณาการคุณค่าพระวรสารในหลักสูตรรายวิชามี 2 ประเภท ได้แก่
การบูรณาการคุณค่าพระวรสารโดยตรง ในตัวมันเอง                                                                               การบูรณาการประเภทนี้มีความสำคัญอย่างยิ่ง ครูต้องพยายามค้นหาให้พบมากที่สุดเท่าจะมากได้  ตัวอย่างการบูรณาการคุณค่าพระวรสารโดยตรงได้แก่ (1) วิทยาศาสตร์ เรื่องแสงและการเดินทางของแสง มีการอธิบายถึงตัวกลาง 3 ประเภท ได้แก่ ตัวกลางทึบแสง ตัวกลางโปร่งแสง และตัวกลางโปร่งใส เนื้อหาหลักสูตรเรื่องตัวกลางจึงบูรณาการคุณค่าพระวรสารความโปร่งใส หรือความซื่อตรงได้โดยตรง ในตัวมันเองนั่นเอง (2) วิทยาศาสตร์ เรื่ององค์ประกอบของดอก สามารถบูรณาการคุณค่าพระวรสารหน้าที่และความเป็นชุมชนได้ในตัวมันเอง (3) คณิตศาสตร์ เรื่องการวัด ชั่ง ตวง สามารถบูรณาการคุณค่าพระวรสารความซื่อตรงและยุติธรรมได้โดยตรง (4) คณิตศาสตร์ เรื่องการทำบัญชีรายรับ-รายจ่าย มีความเหมาะสมที่จะบูรณาการคุณค่าพระวรสารการอดออม หรือความพอเพียงได้โดยตรง
การบูรณาการคุณค่าพระวรสารโดยอ้อม                                                                                 การบูรณาการคุณค่าพระวรสารประเภทนี้ เป็นการบูรณาการคุณค่าพระวรสารได้ดีโดยอาศัย           (1) กิจกรรมการจัดการเรียนการสอน                                                                                  ยกตัวอย่างเช่น การเรียนรู้เป็นกลุ่ม สามารถบูรณาการคุณค่าพระวรสารความเป็นชุมชน หรือการตั้งคำถาม สามารถบูรณาการคุณค่าพระวรสารการไตร่ตรอง                                                  (2) บริบท ตัวอย่าง กรณีศึกษา และสื่อการการสอน ที่ครูนำมาใช้ในการสอน ยกตัวอย่างเช่น ในการสอนเรื่องตัวสะกด แม่ กก ครูใช้สื่อการสอนกลอน "ลูกนกตกยาก" กลอนนี้กล่าวถึงลูกนกที่ตกลงมาจากรัง มีคางคกมาพบ แต่กลับไม่ทำอันตรายลูกนก การใช้สื่อนี้จึงบูรณาการคุณค่าพระวรสารความเมตตาได้โดยอ้อม นอกจากนี้ หากครูดำเนินกิจกรรมการเรียนการสอนโดยมอบหมายงานให้นักเรียนเขียนเรื่องต่อว่าลูกนกจะตอบแทนบุญคุณคางคกอย่างไร ก็ย่อมบูรณาการคุณค่าพระวรสารความกตัญญูได้โดยอ้อม แม้เรื่องตัวสะกด แม่ กก ไม่ได้บูรณาการความเมตาและความกตัญญูโดยตรงก็ตาม

เนื้อหาหลักสูตรที่บูรณาการคุณค่าพระวรสารได้โดยตรงทั้งหมดควรนำมาเขียนเป็นแผนการจัดการเรียนรู้รายคาบ ส่วนเนื้อหาหลักสูตรที่บูรณาคุณค่าพระวรสารโดยอ้อมแต่มีกิจกรรมการเรียนการสอนและสื่อการสอนที่บูรณาการคุณค่าพระวรสารได้อย่างเหมาะสมและน่าสนใจ ก็ควรนำมาเขียนเป็นแผนการจัดการเรียนรู้รายคาบเช่นกัน

การดำเนินงาน

โรงเรียนมอบหมายให้ครูผู้สอน 5 กลุ่มสาระ ทำงานดังต่อไปนี้:
วิเคราะห์โครงสร้างหลักสูตรที่บูรณาการคุณค่าพระวรสาร                                                     ให้ครูค้นหาเนื้อหาหลักสูตรที่บูรณาการคุณค่าพระวรสาร โดยกำหนดรายการคุณค่าพระวรสารที่สามารถบูรณาการไว้ในช่องตาราง "สาระสำคัญ" ของตัวโครงสร้างหลักสูตร หลังจากนั้น ให้ค้นหาเนื้อหาหลักสูตรที่บูรณาการคุณค่าพระวรสารได้โดยตรง โดยใหัครูขีดเส้นใต้และใส่เครื่องหมายดอกจันทร์ (*) ตรงคุณค่าพระวรสารที่บูรณาการในหลักสูตรโดยตรง และใหัครูขีดเส้นใต้คุณค่าพระวรสารที่บูรณาการโดยอ้อมได้เป็นอย่างดีเพราะใช้สื่อหรือวิธีการสอนที่ดี
วิเคราะห์แผนการจัดการเรียนรู้รายคาบที่บูรณาการคุณค่าพระวรสาร                                      ให้ครูวิเคราะห์ปรับปรุงแผนการจัดการเรียนรู้รายคาบที่บูรณาการคุณค่าพระวรสารว่ามีครบถ้วนหรือไม่ และปรับปรุงให้เป็นแผนการจัดการเรียนรู้ที่ดี กล่าวคือ สามารถถ่ายทอดคุณค่าพระวรสาร อย่างเหมาะสม และขณะเดียวกันก็ถ่ายทอดทักษะการคิดขั้นสูง
ควรให้ครูผู้สอนของกลุ่มสาระร่วมกันวิเคราะห์และปรับปรุงก่อนส่งฝ่ายวิชาการ และให้ฝ่ายวิชาการตรวจสอบอีกครั้งหนึ่ง ก่อนส่งให้สภาการการศึกษาคาทอลิก

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น