“การฟื้นฟูความกระตือรือร้นทางการศึกษาคาทอลิกขึ้นใหม่:
ความท้าทาย กลวิธี และมุมมองที่เกิดจาก
คำตอบแบบสอบถามของเอกสารเครื่องมือทำงาน”
สมณกระทรวงการศึกษาคาทอลิก
โรม 2015
เอกสารนี้เป็นผลของการวิเคราะห์ข้อมูลจากคำตอบแบบสอบถามของเครื่องมือการทำงาน (Instrumentum Laboris) “การฟื้นฟูความกระตือรือร้นทางการศึกษาคาทอลิกขึ้นใหม่” ที่ออกโดยสมณกระทรวงการศึกษาคาทอลิกในปี 2524 การวิเคราะห์ข้อมูลของ “Libera Università Maria Santissima Assunta” ที่ใช้โปรแกรมคอมพิวเตอร์ด้านสังคมศาสตร์ทำให้เราเห็นภาพรวมทั้งหมด วิธีการเชิงปริมาณเสริมด้วยการวิเคราะห์เชิงคุณภาพตามเทคนิควิธีสังคมวิทยาและจิตวิทยาทำให้เราเข้าใจจุดแข็งและจุดอ่อนของโครงสร้างการศึกษา ยิ่งไปกว่านั้น การวิเคราะห์ทางภาษาศาสตร์และจำนวนซ้ำการใช้คำทำให้เห็นการปรากฎชัดของแนวความคิดหลักที่เกิดซ้ำๆ ของ “การบริรูปหล่อหลอมทางการศึกษา (educational formation) ที่มีลักษณะเป็นองค์รวม มีลักษณะที่โอบรับ อีกทั้งมุ่งเน้นการบริการและการทุ่มเทเพื่อชุมชน” วิธีการทางสถิติที่ทำให้เห็นการสอดรับกับแนวคิดหลักแต่รักษาความคิดหลากหลายของกลุ่มย่อยไว้นั้น ยิ่งทำให้เห็นพระพรพิเศษที่มีชีวิตของการทุ่มเทของเราในการจัดการศึกษาคาทอลิก
1. ความท้าทายเรื่องอัตลักษณ์และพันธกิจ
“โรงเรียนคาทอลิก...‘รับใช้ประชากรของพระเจ้าและมนุษยชาติในความพยายามที่จะแสวงหาสัจธรรม’ วิสัยทัศน์อันศักดิ์สิทธิ์ของโรงเรียนคาทอลิกประการนี้ควรแก่การรับรู้ เจริญชีวิต และแบ่งปันในหมู่ประชาคมโรงเรียนโดยถ้วนหน้า ขณะเผชิญกับการเปลี่ยนแปลงต่างๆ ในนโยบายรัฐ อัตลักษณ์โรงเรียนคาทอลิกยิ่งต้องแน่วแน่มั่นคง...และการเป็นประจักษ์พยานโดยการเจริญชีวิตวิถีคริสต์คือหน้าที่สำคัญ”
“เราเชื่อมั่นว่า หัวใจของการศึกษาคาทอลิกคือพระบุคคลของพระเยซูคริสตเจ้า ทุกอย่างที่เกิดขึ้นในโรงเรียนคาทอลิกควรนำไปสู่การพบปะกับองค์พระเยซูเจ้า พระคริสต์ผู้ทรงพระชนม์”
ในบริบทด้านวัฒนธรรม สังคม และเศรษฐกิจ ที่หลากหลาย อะไรคือลักษณะที่สำคัญ คุณสมบัติที่เราต้องไม่ละเลยหรือทำให้จืดจางลง? อะไรคือปัญหาสำคัญที่เรากำลังเผชิญ? และเราควรเผชิญมันอย่างไร?
ระหว่างการรักษาธรรมเนียมปฏิบัติกับการพัฒนา
ขณะนี้ได้เกิดความตระหนักโดยทั่วกันว่าอัตลักษณ์กำลังถูกท้าทายและคุกคามอย่างมาก เรากำลังเสี่ยงต่อการทำให้อัตลักษณ์อ่อนแอลง เราจึงรู้สึกถึงความจำเป็นที่เราจะทุ่มเทในการป้องกันและรักษามันเอาไว้
ในด้านหนึ่งมีความพยายามที่จะรักษาคุณค่าที่เป็นขนบธรรมเนียมปฏิบัติ และในอีกด้านหนึ่งก็มีความพยายามที่จะเปิดกว้างต่อสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงจากอดีต ซึ่งเรียกร้องให้เราทบทวนพันธกิจของเรา
ความพยายามที่จะรักษาอัตลักษณ์นี้อาจมีลักษณะของการตั้งป้อมรับมือ เพื่อรักษาคุณค่าที่เป็นธรรมเนียมปฏิบัติ ซึ่งถูกคุกคามโดยทุนนิยม โลกียะนิยม (secularism) ซึ่งทำลายล้างทุกอย่างที่เป็นเรื่องศักดิ์สิทธิ์และเป็นโลกุตระ (transcendental) และสัมพัทธ์นิยมเชิงวัฒนธรรมและศาสนา
อย่างไรก็ตาม การรักษาอัตลักษณ์ก็เป็นการเรียกร้องวิธีการใหม่ๆ ของการเป็นธรรมฑูต โดยการอยู่ในความเป็นจริงของชีวิตปัจจุบัน ไม่ปฏิเสธคุณค่าของความทันสมัย ความสำเร็จทางวิทยาศาสตร์ ประชาธิปไตยและสังคม แต่ขณะเดียวกันก็ตระหนักรู้ถึงความไม่ครบครันของคุณค่าเหล่านี้ ขณะที่แสวงหาความสุขแท้และความหมายที่แท้จริงของชีวิต
ระหว่างการดำรงอยู่อย่างไร้ความหมายหรืออย่างมีความหมาย?
อะไรคือความหมายที่แท้จริงการดำรงอยู่ของโรงเรียนคาทอลิก?
เราอาจสรุปเหตุผลของการดำรงอยู่ของโรงเรียนคาทอลิกได้ดังนี้:
- ความจำเป็นของการประกาศพระวรสารในสังคมโลกียะนิยม เพื่อตอบสนองการเรียกร้องของพระศาสนจักรสากล
- การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างทางสังคม โดยตระหนักถึงพันธกิจสำคัญของของโรงเรียน การต่อสู้กับความเหลี่ยมล้ำและการถูกเอารัดเอาเปรียบของคนยากจน
- การให้ชีวิตแก่พื้นที่ท้องถิ่น เพราะโรงเรียนมีความรับผิดชอบเกินขอบเขตกำแพงของตน แต่ครอบคลุมไปถึงชุมชนสังคมที่กว้างขึ้น
- การพัฒนาแรงงาน ในสถานการณ์ที่มีการว่างงานสูง และการที่เยาวชนหลุดออกนอกระบบการศึกษา
- การมีส่วนร่วมในการวิจัยและนวัตกรรมเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตของชุมชน และการมีส่วนร่วมในการพัฒนาเพื่อความดีส่วนรวม
เมื่อวิเคราะห์เหตุผลข้างต้น เราพบสาเหตุสองประเภท กล่าวคือ ก) โรงเรียนคาทอลิกเข้าแทนที่หรือสนับสนุนภาครัฐ ในกรณีที่ภาครัฐดำเนินการได้ไม่ดีพอ ข) แม้ในกรณีที่ไม่มีความจำเป็นต้องเข้าแทนที่รัฐ โรงเรียนคาทอลิกก็ยังมีเหตุผลของการดำรงอยู่เพื่อการประกาศพระวรสาร ในการนี้ โรงเรียนจึงร่วมส่วนในพันธกิจของพระศาสนจักร
การดำรงอยู่ของโรงเรียนคาทอลิกจึงมิได้ตั้งอยู่บนพื้นฐานของการปฏิบัติต่อๆ กันมาจนเป็นธรรมเนียม ในการนี้ จึงไม่มีประโยชน์ที่จะคอยแข่งขันกับนโยบายสาธารณะทางการศึกษาของประเทศ แต่เราควรให้ความร่วมมือในนโยบายของประเทศ โดยมีข้อยกเว้นเฉพาะเพียงข้อเดียว นั่นคือ การประกาศพระ
วรสาร
ระหว่างการแข่งขันกับการรับใช้
เราต้องตระหนักถึงความเชื่อมโยงระหว่างพันธกิจของโรงเรียนคาทอลิกกับการประกาศพระวรสาร ที่จริงแล้ว การประกาศพระวรสารไม่มีสูตรสำเร็จ แต่ต้องให้ความสำคัญต่อสถานการณ์ทางสังคม วัฒนธรรม และการเมือง ที่กำลังเผชิญอยู่ ความเชื่อมโยงระหว่างพันธกิจกับการประกาศพระวรสารนี้เป็นทั้งเรื่องพื้นฐานและเรื่องต้นตำรับ หากความเชื่อมโยงนี้ถูกหลงลืมหรือไม่ได้รับความสำคัญ เราจะตกอยู่ในฐานะที่เสี่ยงเป็นอย่างยิ่ง
ความเสี่ยงประการหนึ่งที่ดูจะซึมลึก คือการมองการดำเนินงานของโรงเรียนคาทอลิกเป็นการแข่งขันกับโรงเรียนของรัฐหรือของเอกชน สิ่งนี้เกิดขึ้นเมื่อมีการมองคุณภาพทางวิชาการของโรงเรียนเพียงแต่ในแง่ของมาตรฐานที่ใช้ในการทำผังเปรียบเทียบระหว่างโรงเรียนรัฐกับโรงเรียนเอกชน
โดยหลักการแล้ว ไม่มีโรงเรียนคาทอลิกโรงใดละเลยที่จะประกาศแรงบันดาลใจคริสต์ อย่างไรก็ตาม ในบางกรณีการอ้างอิงดังกล่าวอาจเป็นเพียงในรูปแบบ หรือปรากฎเป็นเพียงกิจกรรมทางการศึกษาในลักษณะคู่ขนาน ที่ไม่ได้ให้ความสำคัญเท่ากับโปรแกรมการเรียนและหลักสูตรโรงเรียน
เราต้องตระหนักว่า คุณภาพการศึกษาและการเอาใจใส่ในการประกาศพระวรสารต้องไปด้วยกัน เป็นเรื่องน่าอันตรายอย่างยิ่งที่จะให้ความสนใจเฉพาะเรื่องคุณภาพการสอนหรือการบริการนักเรียน โดยละเลยต่อการประกาศพระวรสาร
ปัญหานี้ไม่ได้แก้ด้วยการเพิ่มวิชาคริสตศาสตร์ในหลักสูตรการเรียนการสอนเท่านั้น แต่ด้วยการทำให้กระบวนการการจัดการเรียนรู้ได้รับการส่องแสงสว่างจากชีวิตทัศน์คริสต์ และด้วยการส่งเสริมการจัดการศึกษาของตัวบุคคลแบบองค์รวมที่ผสมกลมกลืน ในการนี้จะต้องไม่ลดระดับหรือจำกัดขอบเขตเป็นเพียงทักษะเฉพาะตัวของหมวดวิชาและทักษะทางอาชีพ มิเช่นนั้น จะกลายเป็นเพียงเส้นทางคู่ขนานสองเส้นที่ไม่มาบรรจบกัน ทางเส้นหนึ่งเพื่อการบริรูปหล่อหลอมทางศาสนาและจิตวิญญาณ ที่จัดสรรให้เฉพาะกาล ในกิจกรรมบางอย่าง อาทิ การสอนคำสอน การภาวนา และทางอีกเส้นหนึ่ง เพื่อความเป็นเลิศทางวิชาด้วยการเรียนการสอนคุณภาพ
เป็นไปได้ว่า โรงเรียนคาทอลิกบางแห่งอาจละเลยที่จะแสดงจุดยืนอัตลักษณ์คาทอลิกของตนอย่างชัดเจน หรือแสดงความทุ่มเทในการบริรูปหล่อหลอมทางศาสนาและการประกาศพระวรสารในระดับที่ตำ่ อย่างไรก็ตาม โรงเรียนคาทอลิกหลายแห่งมีส่วนร่วมในพันธกิจของพระศาสนจักรในระดับเป็นเลิศ โรงเรียนคาทอลิกในปัจจุบันมักจะประกอบไปด้วยนักเรียนและครูที่เจริญชีวิตอยู่ในโลกพหุนิยมและโลกียะนิยม ซึ่งเป็นสังคมที่ความตระหนักต่อพระเจ้ากำลังถดถอยลงเรื่อยๆ และเป็นสังคมที่ความตระหนักในความเป็นส่วนหนึ่งของพระศาสนจักรในระดับวัดกำลังเหือดหายไป หรือการร่วมส่วนอย่างเป็นรูปธรรมในองค์กรพระศาสนจักรก็กำลังจืดจางลงทุกขณะ
แม้แต่ในสถานการณ์ที่โรงเรียนคาทอลิกได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นอยู่โดยตลอดก็ตาม เราก็ยังจำเป็นที่จะต้องทำการไตร่ตรองอย่างรอบคอบว่า สถาบันการศึกษาของเราได้รับความนิยมเพียงเพราะคุณภาพการสอน ความพร้อมด้านแหล่งทรัพยากร และอุปกรณ์ใช้สอย ความโอ่อ่าของอาคารสถานที่ เท่านั้นหรือไม่?
ความเป็นจริงที่ว่าคนที่นับถือศาสนาอื่นให้ความนิยมต่อโรงเรียนคาทอลิกนั้น นับเป็นสิ่งที่ดี กระนั้นก็ดี เราต้องใช้วิจารณญานอย่างดี เพื่อป้องกันความกำกวมในความสัมพันธ์ระหว่างอุปสงค์กับอุปทาน ยกตัวอย่างเช่น กรณีที่สภาพระสังฆราชออสเตรเลียได้ให้ข้อสังเกตุว่าครอบครัวจำนวนมากเลือกโรงเรียนคาทอลิกแม้ว่าตนไม่ใช่คาทอลิก ซึ่งทำให้จำนวนโรงเรียนคาทอลิกขยายตัวอย่างมาก บรรดาสังฆราชออสเตรเลียก็ยังใส่ใจต่อความจำเป็นเร่งด่วนที่สถาบันการศึกษาคาทอลิกต้องมีอัตลักษณ์ที่ชัดเจน มิเช่นนั้นจะเสี่ยงต่อการสูญเสียหรือเสื่อมถอยในธรรมชาติเฉพาะของตน โดยการลดความสำคัญของคุณค่าเด่นของตน
ระหว่างคตินิยมลดทอน (Reductionism) แบบเน้นโครงสร้างหน้าที่ หรือการศึกษาแบบองค์รวม (Holistic Education)
โรงเรียนคาทอลิกทั่วโลกต่างก็มีความห่วงใยร่วมกัน ซึ่งอาจกล่าวได้ว่าเป็นความท้าทายของความท้าทายทั้งหลายเลยทีเดียว กล่าวคือความห่วงใยในกรอบสังคมและเศรษฐกิจของโลกใบเล็กที่เราอาศัยอยู่ อาทิ การที่ทุกอย่างต้องกลับเป็นเพียงเครื่องมือเพื่อเป้าหมายของผลประโยชน์ มาตรฐานของผลประโยชน์ที่กลายเป็นตัวกำหนดการตัดสินใจเลือกต่างๆ การตีค่าเกินควรของประสิทธิผล การมุ่งแต่ความสำเร็จโดยไม่นำพาถึงสิ่งใดๆ สิ่งเหล่านี้ได้ปรากฎว่าเป็นภัยคุกคามที่ใหญ่ที่สุดต่อการส่งเสริมวิธีการที่ให้ความสำคัญต่อความเป็นมนุษย์ ดังนั้นเราจึงพบว่า การศึกษากำลังถูกท้าทายในระดับคุณค่าที่ลึกซึ้งที่สุดของมัน อาทิ ความสำคัญเป็นอันดับต้นของตัวบุคคล คุณค่าของความป็นชุมชน การแสวงหาความดีส่วนรวม การเอาใจใส่ผู้อ่อนแอ ความห่วงใยต่อผู้ด้อยโอกาส ความร่วมมือกัน และความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียว
โรงเรียนคาทอลิกจึงจำเป็นต้องยืนยันถึงคุณค่าของตัวบุคคลมนุษย์ต่อสังคมที่ให้ความสำคัญต่อปัจเจกนิยมแบบมุ่งแข่งขัน และก่อให้เกิดความไม่ทัดเทียมกัน การให้ความสำคัญต่อตัวบุคคลมนุษย์โน้มน้าวให้เรารู้จักเคารพความคิดเห็นของผู้อื่น รู้จักเปิดใจต่อการถกปัญหาและการประชุมปรึกษาหารือ ในบรรยายกาศของมิตรภาพและความร่วมมือ
การศึกษาคาทอลิกมุ่งที่จะช่วยสร้างสังคมที่มีความเป็นมนุษย์มากขึ้น ยุติธรรมมากขึ้น และเป็นหนึ่งเดียวกันมากขึ้น ในโลกที่ได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงทางสังคมครั้งใหญ่และโลกาภิวัฒน์ ซึ่งยังผลให้สถาบันครอบครัวตกในภาวะวิกฤติหนักหน่วง เราจึงกำลังเผชิญกับวัฒนธรรมของ “การทำให้ว่างเปล่า” และการขาดความลึกซึ้งของชีวิตด้านใน ในสถานการณ์เช่นนี้ เรามีความต้องการจำเป็นที่จะกลับมาค้นพบความหมายของชีวิตอีกครั้ง โรงเรียนคาทอลิกจึงควรตอบโจทย์ความท้าทายเหล่านี้โดยอาศัยคุณค่าที่แท้จริงของตน นักการศึกษาคาทอลิกเชื่อว่า ความพยายามทุกอย่างของเราต้องมุ่งไปสู่การพบปะกับพระเยซูเจ้าผู้ทรงชีวิต โดยทั่วไปแล้ว เราต่างก็รับรู้ถึงความพยายามที่จะสร้างความสอดคล้องยึดโยงระหว่างการเจริญความเชื่อกับชีวิตประจำวัน เฉพาะอย่างยิ่งในที่ๆ มีความเปราะบางทางสังคมในระดับสูง
เราสามารถสรุปเค้าโครงของลักษณะร่วมบางประการที่ปรากฎอยู่โดยทั่วไปในอัตลักษณ์โรงเรียนคาทอลิกดังต่อไปนี้:
- บรรยายกาศที่ชัดเจนของความมีชีวิตชีวา ชีวิตความเชื่อที่ชึมซาบอยู่ในตัวปริบุคคล
- ความตระหนักในความยุติธรรมในสังคมและการแสวงหาความดีส่วนรวม การสร้างสังคมแห่งเอกภาพและภราดรภาพ
- การมีส่วนร่วมของนักเรียนในกิจกรรมนอกโรงเรียน การเยี่ยมเยือนเพื่อเกื้อกูลสถาบันที่ต้องการความช่วยเหลือ การจุนเจือชุมชนที่ขัดสน การรณรงค์เพื่อความสามัคคี กิจกรรมเหล่านี้เป็นการยึดโยงหลักสูตรการศึกษากับการบริการสนับสนุน
- ความตระหนักแบบคริสต์ต่อความเป็นชุมชน บรรยายกาศครอบครัว และการยินดีต้อนรับ
- การมุ่งพัฒนาปรับปรุงคุณภาพของความสัมพันธ์ระหว่างบุคคล
- ความสำคัญของการรวมพลังระหว่างครอบครัว โรงเรียน และนักเรียน เพื่อเอาชนะปัญหาอุปสรรค
- ความตระหนักว่าการศึกษาไม่ได้เป็นเพียงความรู้ แต่เป็นมวลประสพการณ์และการปฏิบัติ การรู้คือการรู้ว่าต้องปฏิบัติอย่างไร
ในการเผชิญกับสังคมที่แบ่งแยก เป็นปัจเจกนิยม และแล้งน้ำใจ การศึกษาจึงต้องมุ่งสู่การบริรูปหล่อหลอมแบบองค์รวมของตัวบุคคลมนุษย์ ประสพการณ์การเรียนรู้จึงควรมีลักษณะของการเปิดโอกาศที่หลากหลายสำหรับเยาวชน เพื่อทำให้พวกเขาเติบโตและพัฒนาทักษะและพรสวรรค์ของตน โรงเรียนควรให้ความเอาใจใส่ต่อมิติด้านสติปัญญา อารมณ์ สังคม วิชาชีพ จริยธรรม และจิตวิญญาณ นักเรียนแต่ละคนควรได้รับการส่งเสริมให้พัฒนาพรสวรรค์ของตนในบรรยายกาศของความร่วมมือและความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน
การใส่ใจต่อตัวบุคคลมนุษย์มีความยึดโยงกับอัตลักษณ์ของโรงเรียนคาทอลิก เพราะเหตุว่า การให้ความสำคัญต่อตัวบุคคลมนุษย์ย่อมสะท้อนถึงการเอาพระบุคคลของพระเยซูคริสตเจ้าเป็นศูนย์กลางนั่นเอง ความเป็นมนุษย์ของพระเยซูเจ้าจึงกลับเป็นจุดอ้างอิงของทุกอย่างที่เป็นมนุษย์ หัวใจของอัตลักษณ์โรงเรียนคาทอลิกจึงอยู่ที่พระบุคคลของพระเยซูคริสตเจ้า
“เราเชื่อมั่นว่า หัวใจของการศึกษาคาทอลิกคือพระบุคคลของพระเยซูคริสตเจ้า ทุกอย่างที่เกิดขึ้นในโรงเรียนคาทอลิกควรนำไปสู่การพบปะกับองค์พระเยซูเจ้า พระคริสต์ผู้ทรงพระชนม์”
การเป็นประจักษ์พยานคือการประกาศพระวรสาร
โรงเรียนคาทอลิกหลายแห่งเปิดดำเนินการในพื้นที่ที่ประสบปัญหาความยุ่งยาก นอกจากมีคาทอลิกจำนวนน้อยแล้ว ยังมีปัญหาเสรีภาพการแสดงออกด้วย สถานการณ์ในภูมิภาคแบบนี้ช่วยให้เราเข้าใจอัตลักษณ์ในความสัมพันธ์กับกิจกรรมธรรมทูต
ในสถานการณ์เช่นนี้ มีความจำเป็นต้องหลีกเลี่ยงการถูกกล่าวโทษเรื่องการโน้มน้าวให้เปลี่ยนศาสนา อย่างไรก็ดี ความทุ่มเทในการจัดการศึกษายังคงเป็นส่วนหนึ่งของพันธกิจการประกาศพระวรสารของพระศาสนจักร วิธีปฏิบัติที่ดีที่สุดอาจจะไม่ใช่การประกาศ แต่เป็นการเป็นประจักษ์พยาน ดังนั้น “การเป็นประจักษ์พยานคือการประกาศพระวรสาร”
ในสถานการณ์ดังกล่าว โรงเรียนคาทอลิกส่วนใหญ่มีนักเรียนคาทอลิกอยู่จำนวนน้อย และครูคาทอลิกก็มีจำนวนน้อยเช่นกัน พวกเขาร่วมงานกับครูที่นับถือศาสนาอื่น แบ่งปันมิใช่เพียงแต่ในเรื่องหลักสูตร แต่ในเรื่องความสนใจในการศึกษาด้วย และสถานการณ์เช่นนี้ไม่ได้ถูกมองเฉพาะในแง่ที่เป็นปัญหาแต่เพียงแง่เดียว แต่สามารถมองในแง่ที่เป็นโอกาศสำหรับการเสวนา การพบปะแบ่งปัน และการทุ่มเทเพื่อความดีส่วนรวมเช่นกัน มีอะไรเกิดขึ้น? ทันทีที่เข้ามาในโรงเรียนคาทอลิก ผู้คนสามารถสัมผัสได้ถึงความแตกต่างจากโรงเรียนอื่นทั่วไป ความแตกต่างนี้ไม่ใช่อยู่ตรงประเด็นว่าโรงเรียนมีแหล่งทรัพยากรมากมาย หรือโรงเรียนมีเสน่ห์น่าสนใจ ทว่าอยู่ตรงประเด็นว่า โรงเรียนมีบรรยายกาศของการประทับอยู่ของพระเจ้า
“โรงเรียนคาทอลิกเหล่านี้มีบรรยากาศของความจริงจัง ซึ่งสะท้อนอยู่ในความมีระเบียบและความเรียบง่าย ตรงข้ามกับความไร้ระเบียบและสุรุ่ยสุร่ายของสังคมบริโภคนิยม ความเคารพซึ่งกันและกัน ระหว่างนักเรียน ครู และบุคลากรสนับสนุน ทั้งใหม่และเก่า สิ่งเหล่านี้แสดงถึงการที่โรงเรียน ‘รับใช้ประชากรของพระเจ้าและมนุษยชาติในความพยายามที่จะแสวงหาสัจธรรม’ วิสัยทัศน์อันศักดิ์สิทธิ์ของโรงเรียนคาทอลิกเช่นนี้ควรแก่การรับรู้ เจริญชีวิต และแบ่งปันในหมู่ประชาคมโรงเรียนโดยถ้วนหน้า ขณะเผชิญกับการเปลี่ยนแปลงต่างๆ ในนโยบายรัฐ อัตลักษณ์โรงเรียนคาทอลิกยิ่งต้องแน่วแน่มั่นคง การเสวนาคือเรื่องจำเป็น และการเป็นประจักษ์พยานโดยการเจริญชีวิตวิถีคริสต์คือหน้าที่สำคัญ”
โรงเรียนคาทอลิกเหล่านี้มีลักษณะเด่นดังต่อไปนี้:
- การส่งเสริมความเคารพต่ออัตลักษณ์ของผู้อื่น
- ความใส่ใจเป็นพิเศษในมิติทางสติปัญญา ศีลธรรม และจิตวิญญาณ
- การรับนักเรียนมีลัษณะเปิดกว้างสำหรับทุกคน
- การส่งเสริมความร่วมมือกับครอบครัวของนักเรียน
- การเปิดกว้างที่จะร่วมมือกับองค์กร สมาคม กิจกรรมเชิงการศึกษา
- การมีกลุ่มครูที่ทุ่มเทอุทิศตน
แม้ในสถานการณ์ที่ยากลำบากเช่นนี้ โรงเรียนคาทอลิกก็มุ่งมั่นที่จะจัดการศึกษาคุณภาพให้ดียิ่งกว่าโรงเรียนรัฐและเอกชนอื่นๆ อย่างไรก็ดี โรงเรียนให้ความสำคัญอันดับต้นต่อพันธกิจการประกาศพระ
วรสาร
ฆราวาส วิกฤติหรือโอกาส?
พันธกิจกับอัตลักษณ์เป็นสิ่งควบคู่กัน พันธกิจเป็นวิธีแสดงออกถึงอัตลักษณ์ของตน พันธกิจถูกมอบหมายให้ใคร? อันดับแรกคือผู้บริหาร อันดับต่อมา บุคลากร โดยเฉพาะครู อย่างไรก็ตาม ได้มีการเปลี่ยนแปลงที่ลึกซึ้งเกิดขึ้น ในวันนี้ เพราะวิกฤติกระแสเรียกนักบวชพระสงฆ์ กลุ่มผู้บริหารมีจำนวนฆราวาสยิ่งทียิ่งมากขึ้นอย่างกว้างขวาง
มีความกังวลเกี่ยวกับการขาดแคลนพระสงฆ์และนักบวชว่า จะทำให้อัตลักษณ์คาทอลิกและพรพิเศษของคณะขาดหายไปในที่สุด มีการเสนอทางออกด้วยการเชื้อเชิญให้ฆราวาสเข้ามาร่วมส่วนมากขึ้น รับรู้มากขึ้นถึงอัตลักษณ์คาทอลิกและพรพิเศษของสถาบัน นั่นหมายความว่า จำเป็นต้องมีการบริรูปหล่อหลอมที่เข้มข้น มีเวลาในการแบ่งปันในด้านจิตวิถี มีการเดินทางฝ่ายจิตวิญญาณร่วมกัน ทว่าสิ่งเหล่านี้ยังไม่เป็นไปอย่างเป็นรูปธรรมในชีวิตจริง การที่จะรักษาชื่อเสียงและการยอมรับของสังคมเอาไว้ได้ โรงเรียนจำเป็นที่จะต้องให้ความสำคัญต่อการมีส่วนร่วมของฆราวาส เนื่องด้วยพวกเขาคือคนส่วนใหญ่ของบุคลากรผู้สอนโรงเรียน มีโรงเรียนที่มองเห็นวิกฤติเป็นโอกาส ในการตระหนักถึงความสำคัญของการพัฒนาฆราวาส ประสพการณ์ของโรงเรียนเหล่านี้ชี้ให้เห็นว่า ยังมีหนทางที่จะก้าวต่อไปของโรงเรียนคาทอลิก มีตัวอย่างของการมีส่วนร่วมและการร่วมมือกันอย่างแท้จริงของฆราวาสกับพระสงฆ์นักบวช ฆราวาสตระหนักรู้ในพรพิเศษของผู้ก่อตั้งสถาบัน รู้สึกเป็นส่วนหนึ่งของพันธกิจโรงเรียน และรับรู้ว่า บทบาทหน้าที่รับผิดชอบของตนได้รับการยอบรับว่าเป็นพระพร เป็นของประทาน
ชุมชน: วิมานในอากาศหรือสิ่งที่เราพยายามสร้าง
หากการศึกษาคาทอลิกมีภารกิจต้องพัฒนาตัวบุคคลมนุษย์แบบองค์รวม ความเป็นชุมชนก็ย่อมเป็นสภาพแวดล้อมที่เอื้ออำนวยที่สุด “การศึกษาแบบคริสต์” กล่าวถึงประเด็นนี้อย่างชัดเจนว่า ขณะที่โรงเรียนคาทอลิกมุ่งสู่เป้าประสงค์ทางวัฒนธรรมเช่นเดียวกันกับโรงเรียนอื่นๆ ทุกโรง ลักษณะเด่นของโรงเรียนคาทอลิกคือ “การสร้างชุมชนโรงเรียนที่มีบรรยากาศซึ่งซึมซาบไปด้วยจิตตารมณ์พระวรสารแห่งอิสรภาพและความรัก”
เมื่อมองในด้านการจัดองค์กร วิถีชีวิต การบริหารจัดการ และกรอบทางการศึกษาและความสัมพันธ์ โรงเรียนคาทอลิกให้คุณค่าต่อความเป็นชุมชน ความเป็นชุมชนเป็นการตอบโจทย์ต่อความท้าทายของปัจเจกนิยม และเป็นลักษณะเด่นของอัตลักษณ์โรงเรียน
โรงเรียนคาทอลิกพึงให้ความสนใจต่อรูปแบบนี้เป็นอย่างยิ่ง ความเป็นชุมชนถือเป็นคุณค่าที่โรงเรียนต้องประกาศอย่างชัดเจน และเป็นจุดมุ่งหมายหลักของทุกๆ โรงเรียน
“เมื่อต้องเผชิญกับปัจเจกนิยมที่กัดกร่อนสังคมของเรา เป็นสิ่งจำเป็นยิ่งที่ยิ่งมากขึ้น ที่โรงเรียนคาทอลิกจะต้องเป็นชุมชนของบุคคลที่ได้รับการดลบันดาลจากองค์พระจิตเจ้าอย่างแท้จริง”
กระนั้นก็ตาม ยังมีความเข้าใจที่แตกต่างกันเกี่ยวกับความเป็นชุมชน เราควรทำความเข้าใจกับความกำกวมบางประการ การอยู่ด้วยเพียงเพื่อสานผลประโยชน์ร่วมกันเท่านั้น มิอาจทำให้โรงเรียนเป็นชุมชนได้ ในกรณีดังกล่าว ผลลัพธ์ที่ปรากฎเป็นเพียงการสนองความต้องการของแต่ละคนอย่างผิวเผน มีเพียงข้อกำหนดบทบาทหน้าที่ วิธีปฏิบัติตน เพื่อเจริญชีวิตอยู่ด้วยกันอย่างดีเท่านั้น ดังนั้น ในกรณีเช่นนี้ จึงขาดการแบ่งปันกันอย่างลึกซึ้ง
“ในการดำเนินงานทางการศึกษา ความคิดเกี่ยวกับความเป็นชุมชนตามขนบประเพณีคาทอลิกของเรา ยังดำรงอยู่เสมอมา แต่ทว่า อาจมีความเข้าใจไม่ถูกต้องเกี่ยวกับความเป็นชุมชนนี้ ความเป็นชุมชนไม่ได้เป็นเพียงการสานผลประโยชน์ หรือการทำตามบทบาทหน้าที่ต่างๆ ของแต่ละคน โดยที่แต่ละคนคอยแต่แสวงหาและปกป้องสิทธิพิเศษของตนเองเท่านั้น”
ถ้าความเป็นชุมชนไม่ได้อยู่ที่แค่การปฏิบัติตนตาม ‘กฎของบ้าน’ หรือเป็นเพียงการอยู่ในที่ปลอดภัย บ่อยครั้งผู้ปกครองเลือกโรงเรียนคาทอลิกเพื่อเป็นหลักประกันถึงสิ่งแวดล้อมที่สงบ ปกป้องจากอันตรายของสังคม ให้ความจริงจัง มีคุณภาพ หรือเพื่อได้โอกาสความสำเร็จที่ดีกว่า สิ่งเหล่านี้คือความต้องการของผู้ปกครอง ซึ่งเป็นเรื่องที่เข้าใจได้ อย่างไรก็ตาม ประเด็นที่สำคัญกว่าคือ ความเป็นชุมชนมีคุณค่าตรงที่มันเป็นประสพการณ์ที่มีชีวิต และเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อสมาชิกร่วมกันสร้างชุมชน ร่วมกันตัดสินใจ และร่วมกันทุ่มเทอุทิศตน ความเข้าใจเรื่องความเป็นชุมชนทางการศึกษาในโรงเรียนคาทอลิกเป็นเรื่องที่สำคัญมากๆ ความเป็นชุมชนถือได้ว่าเป็นมาตรวัดความสำเร็จของโรงเรียนคาทอลิก ที่จริงแล้ว ในสถาบันการศึกษาที่ถูกออกแบบในลักษณะนี้เท่านั้น ที่นักเรียนจะสามารถมีประสพการณ์ในสภาพแวดล้อมที่เหมาะสม เอื้อต่อการเรียนรู้ เอื้อต่อความสัมพันธ์ระหว่างบุคคล และเอื้อต่อการมีส่วนร่วมของสมาชิกทุกคน อุดมการณ์ดังกล่าวไม่ควรเพียงแต่ปรากฎอยู่ในจุดมุ่งหมายทางการศึกษาของโรงเรียนเท่านั้น แต่ควรอยู่ในความตระหนักของนักเรียน ครู ผู้ปกครอง ชุมชนท้องถิ่น และชุมชนพระศาสนจักรด้วย
ก่อนอื่นใด โรงเรียนคาทอลิกได้รับกระแสเรียกให้เป็นชุมชนแห่งความเชื่อและชีวิต เช่นนี้แล้ว โรงเรียนคาทอลิกจึงเป็นเสมือนยาแก้อาการปัจเจกนิยมและบริโภคนิยมของสังคม บรรยากาศเฉพาะอันโดดเด่นของโรงเรียนคาทอลิกคือบรรยากาศครอบครัว สิ่งนี้เป็นความจริง แม้ในโรงเรียนที่มีนักเรียนคาทอลิกน้อย: การสร้างชุมชนเป็นหน้าที่ของทุกๆ คน
มีรายงานจากหลายแห่งถึงการฟื้นฟูในด้านความตระหนักในอัตลักษณ์โรงเรียนคาทอลิก ซึ่งดำเนินการในรูปแบบของการฝึกอบรมครู และโดยเฉพาะอย่างยิ่ง ด้วยการสร้างชุมชนวิถีคริสต์ที่แท้จริง ทั้งผู้บริหารและผู้ปกครองต้องมีส่วนร่วมในการสร้างชุมชนการศึกษา รวมทั้งต้องทำให้นักเรียนมีส่วนร่วมในการสร้างชุมชนการศึกษาเช่นกัน นอกจากนี้ ชุมชนการศึกษาจะต้องมีบรรยากาศครอบครัว ชุมชนดังกล่าวเป็นชุมชนการศึกษาที่มุ่งตอบสนองความต้องการจำเป็นของทุกคน โดยเฉพาะผู้ที่มีความต้องการมากที่สุด เป็นชุมชนที่มุ่งหาวิธีที่จะช่วยเหลือครอบครัวของนักเรียนที่ยากจน เป็นชุมชนที่เกิดขึ้นด้วยความใฝ่ใจรักต่อการศึกษา และการแบ่งปันคุณค่าเดียวกันอย่างลึกซึ้ง เป็นชุมชนที่ต้อนรับทุกคน โดยไม่กีดกันคนจนและผู้ขัดสน เป็นชุมชนที่เสริมสร้างและพัฒนาโดยไม่จำกัดอยู่ที่บุคลากรผู้สอนและนักเรียนเท่านั้น แต่รวมถึงครอบครัวของนักเรียนและสังคมท้องถิ่นด้วย
“ความใฝ่ใจรักในงานของตนเป็นสัญญาณที่ชัดเจนของความทุ่มเทอุทิศตนให้กับชุมชน สิ่งนี้เองหล่อเลี้ยงความตระหนักในความเป็นเจ้าของร่วมกัน การร่วมกันทำงานแบบบูรณาการกัน การเคารพในความแตกต่าง การต้อนรับทุกคน และการเปิดใจกว้างอย่างจริงใจต่อกันและกัน”
กล่าวได้ว่า ความเป็นชุมชนเป็นทั้งเป้าหมายและเครื่องมือของการศึกษา จุดมุ่งหมายของการศึกษาคือการสร้างความเป็นชุมชนในโรงเรียน รวมทั้งการสร้างประชาสังคมที่กว้างขึ้น โดยอาศัยชุมชนโรงเรียน
2. การท้าทายเรื่องการศึกษาแบบองค์รวม
สังคมร่วมสมัยกำลังประสบปัญหาต่างๆ มากมาย ซึ่งก่อให้เกิดภาวะที่เราเรียกว่า "ภาวะฉุกเฉินทางการศึกษา" ภาวะดังกล่าวนำมาซึ่งความท้าทายสำหรับสถาบันคาทอลิกที่จะช่วยเสริมสร้างคุณค่าทางจริยธรรมและทางมนุษยวิทยาในมโนธรรมและวัฒนธรรมของปัจเจกบุคคล ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญในการสร้างสังคมที่มีพื้นฐานอยู่บนภราดรภาพและความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน
“โรงเรียนคาทอลิกในฐานะที่เป็นที่ๆ นักเรียนเรียนรู้การดำเนินชีวิต เติบโตด้านวัฒนธรรม รับการฝึกอบรมวิชาชีพ และมีส่วนร่วมในการแสวงหาความดีของส่วนรวม โรงเรียนจัดโอกาสให้นักเรียนทำความเข้าใจสังคมและมนุษยชาติ”
มีลักษณะเด่นบางประการที่โรงเรียนคาทอลิกต้องมี ได้แก่:
- กความเคารพต่อศักดิ์ศรีและความมีเอกลักษณ์ของแต่ละบุคคล
- โอกาสต่างๆ ที่จะเติบโตและเรียนรู้
- การให้ความสำคัญอย่างสมดุลย์ต่อมิติต่างๆ ของการเรียนรู้ (อาทิ ด้านวิชาชีพ สติปัญญา ความรู้สึก สังคม จริยธรรม และจิตวิญญาน)
- การเอื้อต่อการพัฒนาพรสวรรค์ต่างๆ ในบรรยายกาศของความร่วมมือและความเป็นหนึ่ง
- ความเคารพต่อความคิดของแต่ละคน การเปิดกว้างต่อการเสาวนา ความสามารถในการปฏิสัมพันธ์และทำงานร่วมกัน ในจิตตารมณ์ของอิสรภาพและความห่วงใยกัน
ลักษณะเด่นเหล่านี้ย้ำให้เห็นความสำคัญของวิธีการพัฒนาบุคคลแบบองค์รวม นี่คือการศึกษา - ทั้งในรูปแบบหรือนอกรูปแบบ - ที่ส่งเสริมให้นักเรียนพัฒนาคุณค่าและคุณธรรมต่างๆ ซึ่งจำเป็นสำหรับชีวิตที่มีความสุขและมีความหมาย
การสอนที่เป็นเครื่องมือของการศึกษา
โรงเรียนคาทอลิกโฟกัสในสิ่งที่นักเรียนเรียนและวิธีที่นักเรียนเรียน โฟกัสในวิธีการสอนที่หล่อเลี้ยงคุณค่าสำคัญได้แก่ ความชื่นชม ความไว้เนื้อเชื่อใจ ความเคารพ และมิตรภาพ โดยพยายามขจัดปัจเจกนิยม ความเป็นปรปักษ์ และความเย็นชาต่อกัน ดังนั้นโรงเรียนคาทอลิกจึงพยายามจัดโปรแกรมการเรียนที่เปิดโอกาสให้นักเรียนเติบโตทั้งแบบส่วนบุคคลและแบบเป็นกลุ่มด้วยกัน เป้าหมายไม่ได้อยู่ที่การถ่ายทอดสาระสนเทศและความรู้เท่านั้น แต่อยู่ที่การถ่ายทอดคุณค่าและหลักการด้วย เราไม่ได้มองเฉพาะผลสัมฤทธิ์การเรียนที่ได้ แต่วิธีการที่เราใช้ด้วย
ผู้เรียนเป็นศูนย์กลาง
“การเรียนรู้ไม่ได้เป็นเพียงการรวบรวมเนื้อหา แต่เป็นโอกาสและความทุ่มเทในการพัฒนาตน และแสวงความดีของส่วนรวม”
เราจึงต้องคำนึงถึงความสัมพันธ์ระหว่างการเรียนรู้กับการพัฒนาตนเองและสังคม
องค์ประกอบสำคัญประการหนึ่งของโรงเรียนคาทอลิกคือการให้ความสำคัญต่อปัจเจกบุคคลและการรับใช้ผู้อื่น คำว่า “พัฒนา” มีความเชื่อมโยงกับความเป็นโรงเรียนคาทอลิก โดยเปิดโอกาสให้ตัวบุคคลเติบโตในมิติด้านในและแบบองค์รวม คำดังกล่าวแสดงออกถึงความจริงที่ว่า นักเรียนมีความต้องการจำเป็นที่จะได้รับมวลประสพการณ์ที่นำไปสู่การพัฒนาในมิติด้านสติปัญญา ความรู้สึก สังคม จริยธรรม จิตวิญญาณ และวิชาชีพ โรงเรียนต้องเอาใจใส่อย่างสม่ำเสมอในการพัฒนาความเป็นมนุษย์ การพัฒนาตัวบุคคล การพัฒนาบุคลิกภาพ และการบริรูปหล่อหลอมความเชื่อ
ขณะเดียวกัน การพัฒนาก็ต้องยึดโยงกับการรับใช้ด้วย นี่เป็นการเดินทางหยั่งลึกในตนเอง โดยขณะเดียวกัน ก็ยึดโยงกับบุคคลอื่นด้วย โดยถือตามพระแบบฉบับของพระคริสต์ผู้ทรงเป็นผู้นำที่เป็นผู้รับใช้ ในการนี้ เราจึงสามารถกลับเป็นมนุษย์แท้ ที่เจริญความเชื่อในชีวิตประจำวัน
การพัฒนามีมิติสำคัญ 3 มิติ:
- การพัฒนาคือการเรียนรู้และการสร้างโอกาสแห่งการเรียนรู้สำหรับทุกคน
- การพัฒนาต้องยึดโยงกับสภาพแวดล้อมต่างๆ ที่ชุมชนเผชิญอยู่ และที่ประชาคมพระศาสนจักรต่างๆ ดำเนินการอยู่
- การพัฒนาทางวิชาชีพและการบริรูปหล่อหลอมบุคลากร
มีความจำเป็นที่จะต้องสร้าง “สภาพแวดล้อมแห่งการเรียนรู้” ซึ่งนำไปสู่การพัฒนาการบริรูปหล่อหลอมผู้เรียนอย่างแท้จริง สิ่งนี้เกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อการเรียนรู้ยึดโยงกับการทำงานร่วมกับผู้อื่น ดังนั้นเราจึงจำเป็นต้องเชื่อมโยงโรงเรียนกับวัด สังฆมณฑล และสถาบันอื่นๆ
การสอนวิชาคริสตศาสตร์
ในสถานการณ์ที่โรงเรียนคาทอลิกได้รับความนิยมจากผู้ปกครองและสามารถจัดการศึกษาให้กับนักเรียนจากภูมิหลังที่หลากหลาย ทั้งด้านความสามารถและความเชื่อ ในโรงเรียนที่นักเรียนส่วนใหญ่ไม่ใช่คาทอลิก บางแห่งอนุญาตให้นักเรียนที่ไม่ใช่คาทอลิกไม่ต้องเรียนวิชาคริสตศาสตร์ บางแห่งคาดหวังให้นักเรียนทุกคนร่วมในการเรียนวิชาคริสตศาสตร์ หรือได้รับการอบรมด้านความเชื่อ พิธีกรรม และคุณค่าคาทอลิก ที่บูรณาการในหลักสูตร บางแห่งจัดให้นักเรียนเลือกเรียนวิชาคริสตศาสตร์ หรือจริยศึกษา คุณค่าศึกษาด้านภารดรภาพ ความรักต่อธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
ในสถานการณ์ที่นักเรียนคาทอลิกบางส่วนไม่สามารถเข้าเรียนในโรงเรียนคาทอลิกเพราะข้อจำกัดทางเศรษฐกิจหรือข้อจำกัดอื่นๆ ในบางกรณี แม้มีความพยายามที่จะช่วยเหลือพวกเขาแล้วก็ตาม นี่เป็นสภาพการณ์ที่วัดและชุมชนคาทอลิกต้องยื่นมือเข้ามาช่วยเหลือให้นักเรียนที่ยากจนเหล่านี้ได้รับการอบรมด้านศาสนาและคำสอน ซึ่งอาจทำในรูปแบบของการสอนหลังชั่วโมงเรียน วันสุดสัปดาห์ หรือโครงการระดับสังฆมณฑล สภาพการณ์เช่นนี้ยิ่งเน้นย้ำถึงความสำคัญของการร่วมมือกันระหว่างสถาบันและองค์กรต่างๆ เพื่อค้ำจุนนักเรียนที่ต้องการความช่วยเหลือเหล่านี้
สำหรับโรงเรียนคาทอลิกที่ตั้งในพื้นที่ขาดแคลน จำเป็นที่ต้องสร้างโอกาสแห่งการเรียนรู้โดยยึดโยงกับเครือข่าย มิใช่โดยทำงานอย่างโดดเดี่ยว เพื่อทำให้พันธกิจโรงเรียนคาทอลิกบรรลุผล พันธกิจนี้มีผลกระทบต่อคนแต่ละคนและต่อสังคมโดยกว้าง คำว่า ‘ยึดโยง’ หมายถึงความพร้อมที่จะทำ มีความริเริ่ม ความเต็มใจที่จะจัดระบบโครงสร้าง สร้างนวัตกรรม ค้นหา หรือประยุกต์วิธีการใหม่ๆ เช่น การสอนแบบสหวิทยาการ
โรงเรียนคาทอลิกให้ความสำคัญต่อการทำให้บุคลากรฆราวาสเข้ามามีส่วนร่วมในการรักษาอัตลักษณ์โรงเรียนคาทอลิก พร้อมๆ กับพันธกิจการประกาศพระวรสาร มีความตระหนักชัดว่า เพื่อทำให้สิ่งนี้เกิดขึ้นจริง จำเป็นที่ต้องมีการยึดโยงที่เหนียวแน่น ความร่วมมือที่หนักแน่น ในหมู่สถาบันและองค์กรต่างๆ เพื่อต่อกรกับความท้าทายต่างๆ ที่การศึกษาของพระศาสนจักรกำลังเผชิญอยู่ ในส่วนของครอบครัวคาทอลิกที่ประสบความยากลำบากในการส่งบุตรหลานเข้าเรียนในโรงเรียนคาทอลิก ความร่วมมือในหมู่สถาบันและองค์กรต่างๆ เพื่อช่วยเหลือครอบครัวเหล่านี้ยิ่งเป็นเรื่องจำเป็น
3. ความท้าทายเรื่องคนยากจนและความยากจนในรูปแบบใหม่
โรงเรียนคาทอลิกทั่วโลกต่างก็เน้นความสำคัญของการให้ความเอาใจใส่ต่อคนยากจน ประเด็นที่เน้นคือ: ความห่วงใยเรื่องความยากจนทางวัตถุและการขาดแคลนทรัพยากรเพื่อใช้ชีวิตที่มีศักดิ์ศรี การขาดแคลนทรัพยากรเพื่อใช้ในการศึกษา นอกจากนี้ มีการเน้นด้วยเช่นกันเกี่ยวกับความห่วงใยต่อคนพิการ และคนที่มีความต้องการพิเศษทางการศึกษา ซึ่งจำเป็นต้องได้รับความช่วยเหลือพิเศษ
ความห่วงใยต่อสถานะการณ์ต่างๆ ของความยากจนได้กลายเป็นประเด็นที่ต้องจัดความสำคัญเป็นอันดับต้นโดยประชาคมทั้งหมด กล่าวคือ โดยชุมชนทางวิชาชีพและทางการศึกษา โดยชุมชนท้องถิ่น และโดยชุมชนพระศาสนจักร
มิใช่ด้วยอาหารเท่านั้น
อะไรคือความยากจน? บางทีเราอาจไม่ได้ใส่ใจในคำถามอันนี้อย่างจริงจัง เพราะบ่อยครั้ง เราเน้นแต่เรื่องการขาดเงิน เรายังมักใช้การขาดเงินเป็นข้อแก้ตัวที่ไม่ได้รับฟังเสียงร้องของคนยากจนและความทุกข์ของคนที่สูญเสียศักด์ศรีเพราะตกงาน
ความแร้นแค้นกำลังขยายตัวในหมู่ประชากรโลก มันก่อให้เกิดการขาดแคลนปัจจัยในการดำรงชีวิต แต่มิใช่เพียงเท่านี้ นอกเหนือจากความหวั่นวิตกที่ก่อขึ้นด้วยสถานะการณ์อยุติธรรมที่กำลังคุกคามอยู่นี้ ยังมีรูปแบบอื่นของความยากจนที่ควรแก่การทำความเข้าใจ เรื่องนี้ไม่เกี่ยวข้องกับความต่างของค่าแรง ระดับรายได้ขั้นตำ่ หรือมาตรวัดความยากจน ทว่ามีมิติอื่นของความยากจนของมนุษย์ที่ปรากฎขึ้นมา กล่าวคือ การลดทอนของคุณภาพทางจิตวิญญาณของชีวิต ในวันนี้เราใช้คำว่า “รูปแบบใหม่ของความยากจน” เพื่ออธิบายถึงปรากฎการณ์ซับซ้อนซึ่งครอบคลุมถึงลักษณะความต้องการจำเป็นที่หลากหลาย ไม่เพียงแต่ความต้องการจำเป็นปฐมภูมิที่เกี่ยวข้องกับการมีสิ่งจำเป็นสำหรับความอยู่รอด ที่จริงแล้ว ยังมีความต้องการจำเป็นอื่นๆ อาทิ สุขภาพอนามัย สวัสดิการ การศึกษา ยิ่งไปกว่านั้น มนุษย์ยังมีความต้องการจำเป็นในมิติของความสัมพันธ์ วัฒนธรรม และจิตวิญญาณ มิติเหล่านี้ยึดโยงกับวิกฤติของสายสัมพันธ์ของชุมชน กับการกัดกร่อนของความสัมพันธ์แห่งความรักระหว่างบุคคล กับความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน หรือกับการกีดกันทางสังคม ท้ายที่สุดแล้ว ยังมีความต้องการจำเป็นที่จะหาความหมายของชีวิตด้วย
ระดับรายได้นับเป็นดัชนีชี้วัดหลักของความยากจน แต่การดูเพียงประเด็นนี้เท่านั้นไม่น่าจะเพียงพอ ยังมีความยากจนชนิดอื่นที่เราต้องห่วงใยคำนึงถึง ความท้าทายจึงมาในรูปแบบใหม่ของความยากจนด้วย
ความห่วงใยในรูปแบบของความยากจนทั้งแบบเก่าและแบบใหม่ นั่นคือทั้งทางวัตถุและทางจิตวิญญาณ นับเป็นลักษณะพื้นฐานของอัตลักษณ์โรงเรียนคาทอลิก เป็นเรื่องภาคบังคับสำหรับโรงเรียนคาทอลิกที่มิอาจเพิกเฉยได้ ทั้งนี้ เพื่อรักษาสารัตถะของความเป็นคาทอลิก
“โรงเรียนของเราพยายามที่จะจัดการศึกษาคุณภาพที่ครอบคลุมมิติทั้งหมดของตัวบุคคลมนุษย์ โดยปราศจากการกีดกันทางสังคม แต่โฟกัสที่คนยากจนที่สุด”
เอกสารของคณะซาเลเซียนกล่าวว่าโรงเรียนของเราต้องทุ่มเทอุทิศตนแก่คนยากจน ทำให้การดำรงอยู่ของโรงเรียนคาทอลิก “เป็นดังประกาศก” ในวันนี้ความทุ่มเทดังกล่าวต้องคำนึงถึงรูปแบบหลากหลายของความยากจน มิเพียงแต่ด้านวัตถุเท่านั้น “นับเป็นประเด็นภาคบังคับสำหรับชุมชนการศึกษาที่ต้องทำความเข้าใจว่า อะไรคือการเป็นโรงเรียนคาทอลิกอย่างแท้จริง”
โลกียะนิยม
โลกียะนิยมเป็นแหล่งเพาะพันธ์ของความยากจนฝ่ายจิตวิญญาณที่กำลังแพร่ขยายอย่างรวดเร็ว ขณะที่ส่วนใหญ่ของโลกกำลังเผชิญกับภัยคุกคามของมูลฐานนิยม (fundamentalism) ที่กำลังขยายตัวครั้งสำคัญ สัมพัทธ์นิยม (relativism) ก็กำลังงอกเงยขึ้นในประเทศคริสต์ดั้งเดิม ที่กำลังผุกร่อนด้วยการสูญเสียมิติของความศักดิ์สิทธิ์ ในวัฒนธรรมร่วมสมัยและในความคิดทั่วไปของผู้คน การมีอยู่ของพระเจ้ายิ่งทียิ่งเลือนลาง ชีวิตประจำวันถูกครอบงำด้วยความรู้สึกว่าตนเท่านั้นสำคัญ โดยทำให้คุณค่าคริสต์ไร้ความหมาย คุณค่าเหล่านี้ถูกจำกัดอยู่ในขอบเขตของเรื่องส่วนตัวเท่านั้น หรือถูกมองเป็นเพียงสิ่งคงค้างของวัยเด็ก หรือบางครั้งก็ถูกเพิกเฉยไม่นำพาโดยจงใจ พหุนิยมทางวัฒนธรรมและศาสนาที่แพร่กระจายได้ก่อเกิดสัมพัทธ์นิยม ศาสนาคาทอลิกได้สูญเสียความน่าเลื่อมใสในสภาพแวดล้อมที่ชิงดีชิงเด่นเพิ่มมากขึ้น ความเป็นปรปักษ์มิได้เกิดขึ้นในหมู่ศาสนิกของศาสนาอื่น หากแต่เกิดขึ้นในหมู่ขบวนการและกลุ่มคนที่มีอิทธิพลต่อชีวิตของผู้คน โดยการนำเสนอความหมายและค่านิยมใหม่ ค่านิยมเหล่านี้ได้แก่บริโภคนิยม ชื่อเสียง หรือการแสวงหาความสำเร็จส่วนบุคคลไม่ว่าโดยวิธีใด สิ่งเหล่านี้ได้แปรเปลี่ยนความเชื่อให้กลับกลายเป็นเรื่องส่วนตัว เรื่องซ่อนเร้น ที่ไม่ต้องแบ่งปันหรือกล่าวถึงในวงสังคม
ในบริบททางวัฒนธรรมเช่นนี้ การศึกษาจึงปรากฎเป็นประเด็นเร่งด่วน ดังนั้นหน้าที่ของโรงเรียนคาทอลิกคือการเข้าถึงจิตใจมนุษย์ และพัฒนาความสามารถในการจุดประเด็นการตั้งคำถามต่อความหมายของชีวิตและความเป็นจริง ซึ่งกำลังอันตรธานไปจากการรับรู้ของผู้คน
โดยอาศัยกิจกรรมทางการศึกษาของโรงเรียนคาทอลิก เราจะนำเสนอปัญหาเกี่ยวกับพระเจ้าต่อสังคมโลกียะนิยมในปัจจุบันได้อย่างไร?
ความไม่สนใจและการเพิกเฉย
คนจำนวนมากเลือกโรงเรียนคาทอลิกมิใช่เพราะได้รับแรงบันดาลใจจากคุณค่าทางจิตวิญญาณและคุณค่าความเป็นมนุษย์ในเป้าหมายของโรงเรียน คนเหล่านี้ไม่ได้แสดงความสนใจในคุณค่าดังกล่าว ผู้ปกครองจำนวนมากนำบุตรหลานมาเข้าโดยมุ่งหวังที่จะเข้ามาอยู่ในสิ่งแวดล้อมที่เต็มไปด้วยโอกาสมากมาย ได้รับการฝึกอบรมทางวิชาการที่ดี โดยคาดหวังว่าบุตรหลานจะมีความได้เปรียบในด้านอาชีพและความสำเร็จในชีวิต เราจะตอบโจทย์ต่อผู้ปกครองประเภทเพิกเฉยไม่สนใจเหล่านี้อย่างไร? ผู้ปกครองเหล่านี้ต้องการการศึกษาคาทอลิก แต่กลับมองสิ่งที่เป็นหัวใจของการศึกษาคาทอลิกอย่างผิวเผิน ไม่ต้องการมีส่วนร่วมหรือรับผิดชอบ
มีข้อเสนอให้บูรณาการการอภิบาลของวัดกับการอภิบาลของโรงเรียน “โรงเรียนคาทอลิกมุ่งที่จะประกาศพระวรสาร มิใช่เพียงจัดการเรียนการสอนคุณภาพเท่านั้น อย่างไรก็ตามการบูรณาการโรงเรียนกับแผนอภิบาลของสังฆมณฑลมิใช่เรื่องง่าย”
การกัดกร่อนของอัตลักษณ์
เราพบสภาพที่โรงเรียนของรัฐบางแห่งให้ความสนใจน้อยมากต่อมิติทางศาสนาในการจัดการเรียนการสอน การตัดทิ้งศาสนาและความเชื่อออกจากมรดกทางวัฒนธรรมนับเป็นการลดทอนความสามารถในการพัฒนานักเรียนเป็นอย่างยิ่ง โรงเรียนคาทอลิกเองก็อาจพบอันตรายเช่นนี้ในสองประเด็นด้วยกัน
ประเด็นแรกคือ เราต้องเผชิญกับภัยของการยอมโอนอ่อนตาม ซึ่งหมายถึงการที่เรายอมรับหลักสูตรโดยขาดการใช้วิจารณญาณและการเฝ้าระวัง ขาดการเอาใจใส่ที่จะทำให้หลักสูตรโรงเรียนบรรลุถึงเป้าหมายแท้จริงของเรา
“ความท้าทายหลักประการแรกที่โรงเรียนคาทอลิกต้องเผชิญคือการพัฒนาเป้าหมายทางการศึกษาที่มีลักษณะเฉพาะของตนตรงตามอัตลักษณ์คาทอลิก”
ประเด็นที่สองคือการแทรกแซงของรัฐโดยการบังคับใช้หลักสูตรพร้อมกับข้อบังคับที่จำกัดอิสรภาพทางวัฒนธรรม หรือมาในรูปของการบังคับใช้แบบเรียน การบังคับใช้หลักสูตรและแบบเรียนอาจไปถึงขั้นที่คุกคามต่อมิติทางศาสนาและจิตวิญญาณของโรงเรียน
“การแทรกแซงของรัฐเป็นการท้าทายต่อชุมชนโรงเรียน ที่ครู ผู้ปกครอง นักเรียนต้องร่วมกันสร้างชุมชนทางการศึกษาที่ได้รับเรียกให้ร่วมมือกับสถาบันต่างๆ ของพระศาสนจักร”
ในกรณีเช่นนี้ชุมชนโรงเรียนกำลังเผชิญกับการท้าทายที่สำคัญ: ผู้บริหาร ครู ผู้ปกครอง นักเรียน ต้องร่วมกันสร้างชุมชนทางการศึกษาที่ลุกขึ้นต่อต้านการแทรกแซงของรัฐเช่นนี้ โดยได้รับพลังจากความยึดโยงกับพระศาสนจักร
ความยั่งยืนทางเศรษฐกิจของโรงเรียนคาทอลิก
ในสภาพวิกฤติเศรษฐกิจโลกโรงเรียนคาทอลิกต้องเผชิญกับความท้าทายของการที่ต้องทำมากขึ้นและดีขึ้น แต่ทว่าด้วยเครื่องมือและทรัพยากรที่น้อยลง และนี่ก็เป็นความยากจนรูปแบบใหม่สำหรับครอบครัวชนชั้นกลางด้วย ในด้านหนึ่งสภาพเช่นนี้ทำให้ครอบครัวส่วนหนึ่งไม่สามารถเข้าถึงการศึกษาคาทอลิกเพราะค่าเล่าเรียน ในอีกด้านหนึ่งก็ทำให้เกิดความต้องการจำเป็นที่จะต้องให้การสนับสนุนแก่การศึกษาสำหรับคนยากจนที่สุดที่ได้รับสวัสดิการสังคมลดน้อยถอยลง
การดำเนินงานโรงเรียนคาทอลิกต่อๆ ไปต้องอาศัยการวางแผนกลยุทธ์ที่ดี ทั้งนี้ไม่เพียงเพราะปัจจัยที่ขึ้นอยู่กับสภาพเศรษฐกิจของโลกเท่านั้น แต่ความท้าทายที่เกิดจากการขาดแคลนเครื่องมือและทรัพยากรกำลังเป็นปัจจัยเชิงโครงสร้าง ทั้งในแง่การถดถอยในการอุดหนุนจากรัฐและกองทุนเอกชน อีกทั้งในแง่ค่าดำเนินการจัดการศึกษาที่สูงขึ้น ค่าดำเนินการนี้ขึ้นกับปัจจัยการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างต่อไปนี้:
- การจัดสภาพแวดล้อมการเรียนรู้ที่ซับซ้อนขึ้นส่งผลให้เกิดค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้นในด้านอาคารสถานที่ เทคโนโลยี บุคลากร และแหล่งทรัพยากร
- ระบบการตรวจสอบ รูปแบบใหม่ของความยืดหยุ่นในกระบวนการจัดการเรียนรู้ ทำให้เกิดค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้น
การให้ความเอาใจใส่ต่อผู้ด้อยโอกาสและผู้ขัดสน
“โรงเรียนคาทอลิกต้องไม่มองกลุ่มนักเรียนที่หลากหลาย ทั้งกลุ่มผู้มีความต้องการบพิเศษ ผู้ที่ยากจน ขัดสน เป็นอุปสรรคหรือตัวถ่วง แต่เป็นกลุ่มนักเรียนที่สำคัญที่สุดของโรงเรียน ซึ่งต้องได้รับความห่วงใยและเอาใจใส่สูงสุด”
แต่มิติของพันธกิจเฉพาะของโรงเรียนคาทอลิกนี้ย่อมก่อให้เกิดความท้าทายของการขาดแคลนเครื่องมือและทรัพยากร
โรงเรียนคาทอลิกหลายแห่งพยายามเอาชนะความท้าทายนี้โดยยุทธวิธีต่างๆ โดยกำหนดนโยบายการให้ความช่วยเหลือทางการเงินทั้งในรูปแบบกองทุนการศึกษาและการกำหนดค่าใช้จ่ายที่เลือกรับบริการได้
4. ความท้าทายเรื่องการบริรูปหล่อหลอมและความเชื่อ
โดยไม่คำนึงถึงความแตกต่างของที่ตั้งทางภูมิศาสตร์ ขนาด หรือบริบททางสังคม อุดมการณ์ที่ตกผลึกของสถาบันการศึกษาคาทอลิกประการหนึ่งคือ โรงเรียนคือประชาคมแห่งความเชื่อและชุมชนแห่งการเรียนรู้
ความท้าทายสำหรับโรงเรียนคาทอลิกคือการที่จะรักษาลักษณะความเป็นประชาคมที่แท้จริง สิ่งนี้เรียกร้องให้มีการไตร่ตรองถึงสิ่งที่โรงเรียนคาทอลิกคาดหวังจากตัวครูในด้านการพัฒนาทักษะและการบริรูปหล่อหลอมตามหลักคริสตธรรม
การคัดสรรและฝึกอบรมครู
ประเด็นที่สำคัญที่สุดคือความสามารถที่จะคัดสรรบุคลากรที่มีคุณลักษณะเหมาะสมในการเป็นครูของโรงเรียน โดยมีพื้นฐานบนคุณค่าคาทอลิก สิ่งนี้เป็นเรื่องที่ยากมาก ในสังคมที่ยิ่งทียิ่งเป็นโลกียะนิยมมากขึ้น ไม่ใช่เรื่องง่ายเลยที่จะหาบุคลากรที่พร้อมด้วยคุณสมบัติด้านการสอนและคุณลักษณะตามคุณค่าคาทอลิก เพื่อดำรงการเป็นสถาบันการศึกษา โรงเรียนคาทอลิกจำเป็นต้องหาครูเพื่อสอนรายวิชาต่างๆ จึงจำต้องให้ความสำคัญเป็นอันดับต้นกับทักษะและคุณสมบัติทางวิชาชีพ ผลลัพธุ์คือ ทีละเล็กทีละน้อยบุคลากรครูในโรงเรียนอาจขาดคุณสมบัติการเจริญชีวิตความเชื่อหรือคุณค่าคาทอลิก
“ชุมชนการศึกษาต้องเป็นประจักษ์พยานชีวิตตามคุณค่าพระวรสาร และต้องหมั่นได้รับการฝึกอบรมขั้นสูงขึ้นในด้านอัตลักษณ์โรงเรียนคาทอลิกและกระแสเรียกการประกาศพระวรสาร”
ประเด็นที่สองคือ กระบวนการฝึกอบรมสำหรับครู กระบวนการนี้ควรรวมถึงการฝึกอบรมเตรียมครูใหม่ก่อนปฏิบัติหน้าที่สอนในโรงเรียนคาทอลิก โดยมีการอธิบายเป้าหมายทางการศึกษาเฉพาะของโรงเรียนคาทอลิก และมนุษยวิทยาคริสต์
ประเด็นที่สามคือ การที่โรงเรียนคาทอลิกเป็นที่ดึงดูดใจของครูใหม่และสามารถรักษาบุคลากรครูไว้ได้ ครูใหม่ต้องการทำงานในโรงเรียนของรัฐเพราะได้ค่าตอบแทนสูงกว่า และยังมีครูในโรงเรียนคาทอลิกที่ออกไปเข้าบรรจุในโรงเรียนรัฐ ปัญหาที่โรงเรียนคาทอลิกประสบคือการรักษาครูผู้สอนที่ได้รับการฝึกอบรมอย่างดีและมีแรงบันดาลใจสูง
ต่อหน้าปัญหาดังกล่าวโรงเรียนคาทอลิกพยายามแสวงหาวิธีตอบความท้าทายเรื่องบุคลากรผู้สอนในสังคมโลกียะนิยม และความยากลำบากในการดึงดูดและคัดสรรครูที่มีคุณสมบัติด้านวิชาชีพ จริยธรรม และศาสนา
มีข้อเสนอต่างๆ เพื่อตอบความท้าทายนี้ อาทิ จัดทำระบบการบริหารจัดการทรัพยากรมนุษย์อย่างเป็นรูปแบบโดยกลุ่มโรงเรียน ทำคู่มือการบริหารจัดการทรัพยากรมนุษย์ที่อธิบายขั้นตอน แนวทางและเครื่องมือการคัดสรร การนำเข้าสู่งานของบุคลากร ซึ่งครอบคลุมแบบทดสอบทางจิตวิทยา แบบทดสอบความรู้ แบบทดสอบทักษะการสอน บทสัมภาษณ์ การทดลองสอน ทั้งนี้เพื่อเข้าใจคุณลักษณะและทักษะของผู้สมัคร
เพื่อวางแผนนโยบายการคัดสรรและพัฒนาบุคลากร โรงเรียนคาทอลิกจำเป็นต้องร่วมกันทำงาน มีผู้ให้ความเห็นว่า “น่าเสียดายที่ในสังฆมณฑลมีโรงเรียนคณะนักบวชหลายคณะ พวกเขาพบปัญหา ความท้าทายเดียวกัน แต่ต่างคนต่างแก้ปัญหาของตนไป”
มีกลไกที่ควรเป็นแบบอย่างสำหรับโรงเรียนคาทอลิกทั่วโลกในการตอบความท้าทายนี้ มีระบบการประเมินมาตรฐาน (accreditation) และการกำหนดคุณสมบัติ (qualification) ในหลายประเทศ เช่น ออสเตรเลีย ที่สามารถตอบโจทย์การวางแผนนโยบายการคัดสรรและพัฒนาบุคลากรที่สอดคล้องกับความคาดหวังเฉพาะของโรงเรียนคาทอลิก ในการนี้มีการร่วมมือกันทำงานในหมู่สังมณฑลและโรงเรียนคาทอลิกต่างๆ นี่เป็น “กลไกความร่วมมือระหว่างสถาบัน” ในการคัดสรรบุคลากร
ภาวะผู้นำฆราวาส
เอกสารเตรียมประชุมสมัชชาอธิบายบทบาทของผู้นำในด้านการสนับสนุนสถาบันและการให้คำแนะนำว่า ผู้นำเป็นผู้สร้างชุมชนในด้านการศึกษาและด้านความเชื่อ: "ผู้บริหารโรงเรียนควรเป็นผู้นำที่ทำให้การจัดการศึกษาเป็นการประกอบพันธกิจร่วมกัน อยู่เคียงข้างและจัดระบบบุคลากรครู และส่งเสริมการทำงานและการช่วยเหลือซึ่งกันและกัน” นอกจากนี้เอกสารยังเน้นบทบาทของการเป็น “ผู้นำทางจิตวิญญาณ” และบทบาทการเป็นจุดอ้างอิงสำหรับพระสังฆราชในด้านการอภิบาล ดังนั้นพระศาสนาจักรพึงให้ความสำคัญต่อการคัดสรรและการบริรูปหล่อหลอม/ฝึกอบรมที่ต่อเนื่องของผู้นำ
ผู้ตอบแบบสอบถามพูดถึงคำว่า ‘ผู้นำ’ โดยเกี่ยวข้องกับด้านต่อไปนี้:
- พันธกิจ: เน้นบทบาทของผู้นำในฐานะที่เป็นผู้ส่งเสริมคุณค่าอัตลักษณ์และพันธกิจสถาบัน
- วิสัยทัศน์: เน้นการเสริมสร้างต้นแบบเชิงวัฒนธรรมของภาวะผู้นำ เช่น ต้นแบบซึ่งโฟกัสที่คุณค่าอัตลักษณ์ อันเป็นพื้นฐานของวิสัยทัศน์เกี่ยวกับชุมชนทางการศึกษาในการประกาศพระวรสาร
- การฝึกอบรม: การพัฒนาผู้บริหารต้องเน้นความสำคัญของ “การบริรูปหล่อหลอมในความเชื่อ”
เป้าหมายทางการศึกษาของโรงเรียนคาทอลิกต้องอ้างอิงอย่างชัดเจนถึงพระวรสารและคำสั่งสอนของพระศาสนจักร และอธิบายคุณค่าที่เป็นพื้นฐานในการตัดสินใจและการดำเนินงานของชุมชนทางการศึกษา ผู้บริหารมีหน้าที่รับผิดชอบในการนำเป้าหมายเหล่านี้ไปปฏิบัติอย่างมีเอกภาพและความต่อเนื่อง ผู้บริหารมีหน้าที่รับผิดชอบในการทำให้เกิดลักษณะเฉพาะของโรงเรียน และมีความรับผิดชอบด้านอภิบาลในทุกมิติของชีวิตโรงเรียน
ด้วย “ภาวะผู้นำทางจิตวิญญาณ” ผู้บริหารพัฒนาจิตวิถีของโรงเรียนโดยเจริญชีวิตเป็นประจักษ์พยานและต้นแบบแห่งความเชื่อ ให้ความใส่ใจในการเสริมสร้างวัฒนธรรมของความร่วมมือและเกื้อกูลกัน อีกทั้งจัดโอกาสสำหรับครู นักเรียน และผู้ปกครอง ให้มีกิจกรรมที่ช่วยบริรูปหล่อหลอม การประชุมอบรมด้านจิตใจ และกิจกรรมด้านอภิบาลของสังฆมณฑล
ในปัจจุบัน ฆราวาสจำนวนมากอยู่ในตำแหน่งบริหาร โรงเรียนคาทอลิกจะตอบโจทย์ความท้าทายเรื่องการเสริมสร้างอัตลักษณ์และความเป็นชุมชนภายใต้ภาวะผู้นำฆราวาสอย่างไร? ในหลายแห่งมีการจัดการฝึกอบรมด้านภาวะผู้นำการศึกษาคาทอลิก หรือโปรแกรมการศึกษาต่อระดับปริญญาโทด้านการศึกษาคาทอลิก
ภาวะผู้นำร่วม (Shared Leardership)
ในโรงเรียนคาทอลิกผู้นำสถาบันต้องทำงานอย่างหนักในการมุ่งผลสัมฤทธิ์ที่คาดหวัง และขณะเดียวกันก็สร้างบรรยายกาศของความเคารพในศาสนาและวัฒนธรรม เพื่อตอบโจทย์ความท้าทายนี้ ความคิดเกี่ยวกับภาวะผู้นำเองต้องไม่จำกัดในตัวบุคคลคนเดียว ในโรงเรียนคาทอลิกภาวะผู้นำต้องเป็นคุณสมบัติของชุมชนทั้งหมด กระจายระดับความรับผิดชอบภายในสถาบัน
โรงเรียนคาทอลิกมุ่งที่จะสร้าง ‘ชุมชนการศึกษาแห่งการประกาศพระวรสาร’ (educational community of evangelization) ชุมชนที่ครอบคลุมถึงนักเรียน ผู้ปกครอง ครู ผู้บริหาร และพระสงฆ์/นักบวช ที่มีจิตตารมณ์ของคุณค่าหลักทางการศึกษาและทางจิตวิญญาณ และชุมชนที่มีประสพการณ์ชีวิตจริง ซึ่งมุ่งสู่การประกาศพระวรสารและความดีของเยาวชน ท่ามกลางความท้าทายของบริบทของความแตกต่างทางวัฒนธรรมและศาสนา และบริบทสังคมที่มีความเป็นโลกียะนิยมนับวันยิ่งสูงขึ้น ในบริบทเช่นนี้ ความพยายามที่จะสร้าง "ภาวะผู้นำร่วม" จึงเป็นเสมือนยาต้านลักษณะความเป็นปัจเจกนิยมของมัน
ประเด็นที่สำคัญคือ “ภาวะผู้นำร่วม” (shared leardership) ต้องนำไปสู่การบรรลุ “พันธกิจร่วม” (shared mission) ด้วย แม้ว่ามีการจัดโครงสร้างองค์กรให้มีความรับผิดชอบร่วมกันแล้วก็ตาม หรือแม้มีการแจกแจงบทบาทภาวะผู้นำในระดับต่างๆ ขององค์กรแล้วก็ตาม ยังมีความเสี่ยงที่จะเป็นไปเพียงในรูปแบบเท่านั้น มิได้เป็นไปในทิศทางที่เกิดการบรลุเป้าหมายร่วมกันอย่างแท้จริง “พันธกิจร่วมคือความเป็นจริงของชีวิตในจิตตารมณ์แห่งการหลอมรวมเป็นหนึ่ง (shared mission is a reality of life in a spirit of communion) การจัดโครงสร้างองค์กรมีความจำเป็นก็จริง แต่หากขาดความทุ่มเทที่แท้จริงในการคัดสรรและฝึกอบรมผู้นำที่ร่วมส่วนในพันธกิจด้วยจิตตารมณ์ของการเสริมประสาน การร่วมงาน และความเป็นหมู่คณะร่วมกับพระสงฆ์/นักบวชแล้ว ก็ยากที่จะบรรลุผล ขณะเดียวกัน การที่พระสงฆ์/นักบวชมอบบทบาทผู้นำให้กับฆราวาสในระดับต่างๆ นั้น จะต้องนำพาถึงการถ่ายทอดจิตตารมณ์ พระพรพิเศษ และพันธกิจเฉพาะที่มุ่งหวัง แก่ฆราวาสไปพร้อมกันด้วย
การสร้างชุมชนทางการศึกษาพร้อมกับครอบครัว
คำประกาศของสภาสังคายนาฯ “การศึกษาแบบคริสต์” มองว่าครอบครัวเป็นองค์สำคัญของการศึกษาของลูก ผู้ปกครองเป็นผู้ให้การศึกษาคนแรกของลูก สถาบันการศึกษาและสถาบันคาทอลิกต้องทุ่มเทพยายามทุกอย่างเท่าที่จะทำได้ในการสร้างความร่วมมือกับผู้ปกครอง โดยการส่งเสริมรูปแบบทั้งหลายของการเสาวนา การมีส่วนร่วม ความเปิดกว้างต่อกัน และความรับผิดชอบร่วมกัน หากโรงเรียนมีแรงดลบันดาลในการสร้างชุมชน โรงเรียนจำต้องให้ความสนใจอย่างยิ่งต่อครอบครัว ในฐานะที่เป็นส่วนหนึ่งของชุมชน เป็นพันธมิตรที่จะช่วยทำให้โรงเรียนมีลักษณะที่เปิดต้อนรับมากขึ้น
ในบริบทของชุมชนเราไม่อาจมองครอบครัวเป็นเพียง ‘ลูกค้า’ ผู้รับการบริการแบบเบ็ดเสร็จ แต่เราก็ชไม่อาจมองครอบครัวเป็นตัวปัญหา หรือตัวร้องเรียน ด้วยเช่นกัน แต่เราต้องตระหนักว่า
“การศึกษาต้องการความเป็นหุ้นส่วนกันระหว่างผู้ปกครองกับผู้จัดการศึกษา เพื่อให้บริการทางการศึกษาที่มีความหมาย จัดการศึกษาที่เปิดรับพระเจ้า เพื่อนมนุษย์ และชีวิตทั้งหลายบนโลก เนื่องด้วยการศึกษาเป็นความสัมพันธ์ระหว่างบุคคล ความเป็นหุ้นส่วนกันนี้จึงยิ่งเป็นสิ่งจำเป็น ในกระบวนการของความเป็นหุ้นส่วนกันนี้ เราจึงมองเห็นความเชื่อโลกุตระ ครอบครัว พระศาสนจักร และจริยธรรม ในมิติความเป็นชุมชนอย่างแท้จริง ”
การศึกษาเจริญงอกงามในบรรยายกาศทางศึกษาที่มีพื้นฐานอยู่บนชุมชน และองค์ประกอบของครอบครัวนั้นมิอาจถูกมองข้าม ในทางตรงกันข้าม ครอบครัวมีบทบาทที่สำคัญของตน ในฐานะที่เป็นหุ้นส่วนสำคัญ อย่างไรก็ดี แม้อาจมีความซับซ้อนในทางปฏิบัติ ความเป็นหุ้นส่วนกันนี้ก็ยังคงเป็นจุดมุ่งหวังที่เราควรออกแรงพยายามที่จะบรรลุถึง
อย่างไรก็ตาม ในบางสถานการณ์ สิ่งที่โรงเรียนทำได้มากที่สุดก็คือเป็นเพียงตัวตายตัวแทนของครอบครัว มากกว่าที่จะเป็นการร่วมมือกันระหว่างโรงเรียนกับครอบครัว สถานการณ์เช่นนี้เกิดขึ้นเมื่อมีนักเรียนที่มาจากครอบครัวที่ประสบปัญหา หรือนักเรียนที่ผู้ปกครองทอดทิ้งหรือละเลยหน้าที่
มากกว่าการจัดการศึกษาตามข้อเรียกร้อง
ในบางกรณี สิ่งที่ผู้ปกครองต้องการสำหรับบุตรหลานแตกต่างจากสิ่งที่การศึกษาคาทอลิกต้องการที่จะเสนอ หลายครอบครัวให้ความสนใจโรงเรียนคาทอลิกเพราะคุณภาพการศึกษา อาคารสถานที่ ความสะดวกสบาย โอกาสสู่ความสำเร็จ สิ่งแวดล้อมที่ปลอดภัย และการปลอดอบายมุขเท่านั้น ผู้ปกครองเหล่านี้พร้อมที่จะจ่ายค่าเล่าเรียนสูง และสร้างแรงกดดันเรียกร้องจากโรงเรียนให้จัดการศึกษาคุณภาพ แต่ขณะเดียวกันอาจไม่สนใจในเป้าหมายที่แท้จริงของการศึกษาคาทอลิก
“หลายครอบครัวเข้าในโรงเรียนคาทอลิกมิใช่เพราะการบริรูปหล่อหลอมทางความเชื่อ แต่เพื่อคุณภาพการศึกษา ครอบครัวเหล่านี้ไม่สู้สนใจการบริรูปหล่อหลอมทางจิตวิญญาณในด้านเหนือธรรมชาติ ทั้งสำหรับตนเองและบุตรหลาน”
โรงเรียนที่ได้รับแรงกดดันเช่นนี้อาจสุ่มเสี่ยงที่จะลดทอนเป้าหมายที่แท้จริงของตน หรืออาจถึงขั้นเอออวยกับแรงกดดันดังกล่าวทั้งหมด
ประเด็นมิได้อยู่ที่การปฏิเสธข้อเรียกร้องของผู้ปกครองเพื่อคุณภาพ การบรรลุถึงโรงเรียนคุณภาพและการศึกษาแบบวิชาการเข้มข้นในตัวมันเองนับเป็นคุณค่า ที่เราต้องพยายามอย่างมากเพื่อไปให้ถึง อย่างไรก็ตาม ต้องไม่มองว่านี่เป็นเป้าหมายเดียวหรือเป้าหมายสูงสุดของเรา ขณะเดียวกัน เราต้องพยายามให้การอบรมผู้ปกครองให้มีความต้องการและข้อเรียกร้องที่ถูกต้อง ตรงตามเป้าหมายที่เป็นอัตลักษณ์คาทอลิก
“เป็นที่ชัดเจนว่า เพราะผู้ปกครองมองโรงเรียนคาทอลิกเป็นโรงเรียนที่จัดการศึกษาคุณภาพนั่นเอง พระศาสนจักรจึงจะมีโอกาสที่จะใ้นการเป็นประจักษ์พยานแบบมีความหมายในวงการศึกษา และมีเวทีเฉพาะที่สำคัญในการเสาวนาปฏิสัมพันธ์กับครอบครัว ดังนั้นการบริรูปหล่อหลอมบุคลากร ครู ผู้บริหาร และครอบครัวจึงสำคัญอย่างยิ่ง”
อุปสรรคสำคัญอีกประการหนึ่งในการทำให้ผู้ปกครองมีส่วนร่วม คือท่าทีของผู้ปกครองที่มอบหมายทุกสิ่งทุกอย่างให้อยู่ในความรับผิดชอบของโรงเรียน ผลลัพธ์คือ ผู้ปกครองรู้สึกว่าไม่ต้องมีบทบาทอะไร ไม่ต้องรับผิดชอบใดๆ ในการศึกษาของบุตรหลาน พวกเขาอยู่ในมือของโรงเรียนที่ดีก็พอแล้ว
แน่นอนว่าความสนใจมีส่วนร่วมของผู้ปกครองมีมากกว่าเมื่อเด็กอยู่ในวัยแรกเริ่ม แต่เราสามารถรักษาความสนใจมีส่วนร่วมของผู้ปกครองไว้ให้นานจนเด็กโตเป็นเยาวชน ด้วยกิจกรรมที่แบ่งกว้างๆ เป็นสองประเภท ได้แก่ ก) กิจกรรมสำหรับครอบครัว ข) กิจกรรมร่วมกับครอบครัว
ในกิจกรรมประเภทแรกผู้ปกครองเป็นผู้รับ ผู้บริหารโรงเรียนและครูเป็นผู้นำ โรงเรียนมักใช้กิจกรรมประเภทนี้เป็นส่วนใหญ่
กิจกรรมประเภททที่สองทำได้ยากกว่า ทั้งสองฝ่ายต้องรับผิดชอบร่วมกัน มีการทำงานแบบหุ้นส่วนอย่างแท้จริง
การบริรูปหล่อหลอมสำหรับผู้ปกครอง
วิธีการหลักในการทำให้ครอบครัวมีส่วนร่วมคือกิจกรรมต่างๆ ที่จัดสำหรับผู้ปกครอง อาทิ การประชุม การประชุมรับฟังความเห็น การประชุมพบปะเพื่อรับผลการเรียน การอบรมโดยผู้เชี่ยวชาญ การฟื้นฟูจิตใจ การร่วมกิจกรรมต่างๆ และฉลองต่างๆ ของโรงเรียน ฯลฯ การบริรูปหล่อหลอมผู้ปกครองเช่นนี้เป็นโอกาสให้ผู้ปกครองมีความลึกซึ้งมากขึ้น ทั้งในด้านการเดินทางชีวิตของตนเองและบทบาทหน้าที่การเป็นผู้อบรมของบุตรหลาน กิจกรรมเหล่านี้จึงมีลักษณะเป็นการอภิบาลครอบครัวไปด้วยในตัว
โรงเรียนสามารถเชิญผู้ปกครองคาทอลิกมาร่วมการภาวนา การแบ่งปันทางจิตวิญญาน การฟื้นฟูจิตใจ กิจกรรมเหล่านี้สามารถทำในกลุ่มผู้ปกครองหรือทำร่วมกับนักเรียน
การพบปะผู้ปกครอง
นอกเหนือจากกิจกรรมเป็นทางการของโรงเรียน ยังมีกิจกรรมลักษณะอื่นที่สัมฤทธิ์ผลมาก นั่นคือการพบปะผู้ปกครอง ซึ่งอาจทำในรูปการเยี่ยมบ้าน ซึ่งทำให้โรงเรียนรู้จักนักเรียนอย่างดี ในสถานการณ์จริง หากเกิดสถานการณ์ที่ครอบครัวประสบวิกฤติ โรงเรียนสามารถจัดบริการให้คำปรึกษาแนะนำผู้ปกครองทั้งที่โรงเรียนหรือที่บ้าน โรงเรียนบางแห่งให้ความสำคัญในการให้คำปรึกษาแนะนำกับผู้ปกครองก่อนให้กับนักเรียน การพบปะผู้ปกครองที่บ้านช่วยแก้ปัญหาของหลายครอบครัวที่มีปัญหาทางเศรษฐกิจจนไม่สามารถผละงานมาประชุมที่โรงเรียนได้
จากกิจกรรม 'สำหรับ' ครอบครัวเป็นกิจกรรม 'ร่วมกับ' ครอบครัว
“ในการจัดการศึกษาจำเป็นต้องมีความสัมพันธ์เหนียวแน่นระหว่างนักเรียน ผู้ปกครอง และผู้อบรม เพื่อนำเสนอการศึกษาคุณภาพ และชีวิตที่ดี มีความหมาย และเปิดต่อพระเจ้าและผู้อื่น”
อย่างไรก็ดี ความสัมพันธ์นี้ควรพัฒนาจากการพบปะและความร่วมมือในระดับพื้นฐานที่โรงเรียนริเริ่ม ไปสู่ระดับที่มีปฏิสัมพันธ์และบูรณาการ ลักษณะเช่นนี้เกิดขึ้นชัดเจนในโรงเรียนหลายแห่งที่มีสมาคมผู้ปกครอง
“บทบาทของสมาคมผู้ปกครองมีประโยชน์ต่อการจัดการศึกษาเป็นอย่างมาก องค์กรนี้สามารถช่วยผู้ปกครองในการมีความรับผิดชอบในการจัดการศึกษาและสร้างความเป็นหุ้นส่วนกันกับโรงเรียนอย่างสร้างสรรค์ ในโรงเรียนคาทอลิกความร่วมมือเช่นนี้มีพื้นฐานอยู่บนเป้าหมายทางการศึกษาของโรงเรียน”
เราควรพัฒนาจากความสัมพันธ์แบบ ‘สวัสดิการ’ โดยที่โรงเรียนทำหน้าที่ให้ความช่วยเหลือ เปลี่ยนเป็นความสัมพันธ์แบบหุ้นส่วน ซึ่งยึดโยงทั้งสองฝ่ายในปฏิสัมพันธ์ที่ช่วยเหลือซึ่งกันและกัน โดยมีการแบ่งปันในพันธกิจของสถาบันการศึกษา
การสร้างความเป็นพันธมิตรหุ้นส่วนระหว่างโรงเรียนคาทอลิกกับครอบครัวด้วยการสนับสนุนกัน การยอมรับ และการเสริมสร้างคุณค่าเช่นนี้ ทำให้โรงเรียนคาทอลิกสามารถประกอบภารกิจการประกาศพระวรสารขึ้นใหม่
“โรงเรียนคาทอลิกควรออกไปสู่ครอบครัวผู้ปกครองในฐานะหุ้นส่วนในการศึกษาของเด็กๆ การสนับสนุนครอบครัวและหาวิธีใหม่ๆ ในการสอนคำสอนครอบครัวของนักเรียนนับเป็นการประกาศพระวรสารขึ้นใหม่”
มิติอภิบาล
คำว่า ‘อภิบาล’ ทำให้เรานึกถึงผู้ที่ให้การดูแล อาทิ พระสงฆ์ นักบวช วัด สังฆมณฑล โรงเรียน ครู เป็นต้น นอกจากนี้ยังทำให้เรานึกถึงวิธีการให้ความเอาใจใส่ เช่น การปลุกเร้า การท้าทาย การกระทำ แต่คำ ‘อภิบาล’ ก็ยังเชื่อมโยงถึงอัตลักษณ์คาทอลิกด้วย อีกทั้งบ่งบอกถึงความจำเป็นของการฝึกอบรม
ผู้อภิบาลในโรงเรียนคาทอลิก ซึ่งถือว่าเป็นสถาบันที่เป็นเครื่องมือของพระศาสนจักร ย่อมโฟกัสที่การดูแลนักเรียนและครอบครัว นโยบายและโครงสร้างของโรงเรียนถูกออกแบบให้สร้างผลกระทบในตัวนักเรียนที่เจริญชีวิตอยู่ในสิ่งแวดล้อมต่างๆ พระศาสนจักรหลายแห่งมีแผนอภิบาลที่บูรณาการบทบาทของบ้าน วัด และโรงเรียน
ในบริบทสังคมที่มีความเป็นโลกียะนิยมและพหุนิยมมากยิ่งขึ้นนี้ บทบาทของโรงเรียนคาทอลิกและคุณค่าที่โรงเรียนถือไม่เพียงแต่มีความสำคัญต่อการธำรงความดีเท่านั้น แต่ยังให้ความหมายและให้ทิศทางแก่เยาวชนในวันนี้ ซึ่งจะมีบทบาทนำในอนาคต
การศึกษาคาทอลิกมีมิติที่กว้างขึ้น เมื่อมองในแง่ที่การสอนมีขอบข่ายพ้นออกจากเขตโรงเรียน โดยตระหนักว่ามีนักเรียนจำนวนหนึ่งที่ไม่ได้เรียนอยู่ในโรงเรียน แต่ในโรงเรียนรัฐและเอกชนอื่น นี่เป็นความท้าทายทางอภิบาลในการให้บริการพ้นออกจากเขตโรงเรียน
ในการให้ความสำคัญต่อการศึกษาแบบองค์รวม โรงเรียนคาทอลิกหลายแห่งกำหนดแนวทางการจัดการศึกษาแบบองค์รวมสำหรับนักเรียนที่ไม่ใช่คาทอลิก หรือการจัดโปรแกรมคาทอลิกครอบคลุมไปถึงโรงเรียนที่ไม่ใช่คาทอลิกด้วย
โรงเรียนหลายแห่งมีส่วนร่วมในการริเริ่มต่างๆ ที่มุ่งช่วยให้ผู้นำโรงเรียนเข้าใจและเพิ่มบทบาทในการเอื้ออำนวยความร่วมมือระหว่างบ้าน วัด และโรงเรียนอย่างมีประสิทธิผล การเสริมสร้างความเชื่อเช่นนี้ นับเป็นความท้าทายที่สำคัญที่สุดประการหนึ่งที่โรงเรียนคาทอลิกกำลังเผชิญ มีความพยายามมากมายอันน่าชื่นชมเพื่อสนับสนุนการบริรูปหล่อหลอมความเชื่อดังกล่าว แต่ในสภาพจริงแล้ว โรงเรียนมีระดับความทุ่มเทต่อการบริรูปหล่อหลอมความเชื่อที่แตกต่างกันออกไป ดังนั้นพระสงฆ์สังฆมณฑลบ่อยครั้งต้องเป็นฝ่ายที่ให้ความเอาใจใส่ทางอภิบาล
ในระดับมหภาค โรงเรียนเชื่อในบทบาทที่สำคัญของผู้ปกครอง ตระหนักในการที่ผู้ปกครองเป็นครูคนแรก และตระหนักถึงความจำเป็นที่จะให้ผู้ปกครองร่วมส่วนในการศึกษาของลูกทั้งทางตรงและทางอ้อม ในระดับจุลภาค โรงเรียนที่ตระหนักในบทบาทสำคัญของตนในโลกปัจจุบันจำเป็นต้องเป็นกระบอกเสียงสำหรับเด็กๆ ที่ตนจัดการศึกษา และสำหรับชุมชนภายนอกที่โรงเรียนมีผลกระทบถึง เช่น บ้านคนชรา โครงการคำสอน การศึกษาพระคัมภีร์ งานจิตอาสา เป็นต้น
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น